คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเป็นการผิดถูกชอบหรือไม่นั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองโดยคู่ความมิต้องอุทธรณ์
แม้ทนายจำเลยจะทำยอมความในศาลโดยบกพร่องในอำนาจก็ตาม หากศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษานั้นก็มีผลผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145
จำเลยร้องว่าทนายจำเลยทำยอมในศาลโดยไม่มีอำนาจ ขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง จำเลยก็มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์แต่อย่างไร ดังนี้ ศาลชั้นต้นเองจะกลับมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่อีกหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อผิดพลาดเล็กน้อยตามที่ยกเว้นไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่สวน ๑ แปลง เป็นของโจทก์ โจทก์ตั้งใจจะแบ่งด้านทิศเหนือให้จำเลย แต่จำเลยต้องช่วยแผ้วถางส่วนที่เหลือ จำเลยอาศัยอยู่ในที่ชั่วคราว ครั้น พ.ศ. ๒๕๐๐ จำเลยแสดงเป็นปฏิปักษ์จะเอาที่ดินทั้งแปลง จึงขอให้ขับไล่
จำเลยให้การว่า สวนยางเป็นของจำเลย
ครั้นวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๐๑ ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลโดยโจทก์แบ่งที่ให้จำเลยส่วนหนึ่ง และจำเลยยอมให้เงินโจทก์ ๓๐๐ บาท ศาลได้พิพากษาตามยอม
ต่อมาวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๐๑ จำเลยยื่นคำร้องว่าทนายจำเลยทำสัญญายอมโดยพลการและโดยไม่มีอำนาจ จำเลยมิได้มาทำยอมเอง ใบแต่งทนายหาได้ระบุให้อำนาจทนายทำยอมไม่ ขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ศาลมีคำสั่งวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ ว่า ศาลไม่อาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาเพราะพิพากษาไปแล้ว ให้ยกคำร้องของจำเลย
ต่อมาวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๓ โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยขัดขวางในการที่เจ้าพนักงานทำการปักหลักเขต ศาลเรียกคู่ความมาพร้อมแล้วมีคำสั่งว่า ทนายทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกเหนืออำนาจ คำพิพากษาจึงไม่ผูกพันจำเลย จะบังคับจำเลยไม่ได้ ให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยเสีย ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า เมื่อศาลเห็นว่าคำพิพากษาไม่มีผล ก็ขอให้ดำเนินการพิจารณาไปเสมือนคดียังไม่มีคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานแล้ว พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำพิพากษาตามยอมยังมีสภาพเป็นคำพิพากษาอยู่ จะดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ไม่ได้ตามประมวลบกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๔ และยังต้องมีสภาพเป็นคำพิพากษาเสมอไปตามมาตรา ๑๔๕ แม้ทนายจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยมิได้มอบอำนาจ และจำเลยยื่นคำร้องไว้แล้วก็ดี แต่ไม่มีฝ่ายใดใช้สิทธิอุทธรณ์จนพ้นกำหนดอายุ คำพิพากษาตามยอมก็เป็นอันถึงที่สุด ศาลชั้นต้นจะกลับดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่เป็นการไม่ชอบ จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๐๔ (ครั้งหลัง) คดีคงยุติไปตามคำพิพากษาลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๐๑
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าฎีกาของจำเลยข้อแรกที่ว่าศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งดำเนินการพิจารณาใหม่ เพราะคู่ความมิได้อุทธรณ์นั้น เรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาว่าจะเป็นการผิดถูกชอบหรือไม่ เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หาใช่เป็นปัญหาเฉพาะคู่ความในคดีดังฎีกาของจำเลยเท่านั้นไม่ ฉะนั้น ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
สำหรับฎีกาข้อ ๒ นั้น เห็นว่า ทนายจำเลยซึ่งลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นทนายที่จำเลยแต่งตั้งไว้ หากแต่บกพร่องในอำนาจที่จะทำยอม และเมื่อได้มีการยอมความจนศาลพิพากษาไปตามยอมแล้ว คำพิพากษานั้นก็มีผลผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ เว้นแต่จะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข สำหรับคดีนี้ เมื่อศาลพิพากษาไปตามยอมแล้ว จำเลยก็ทราบและในระยะเวลาต่อมาเพียง ๘ วัน ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ครั้นศาลสั่งยกคำร้อง จำเลยก็ทอดทิ้งมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์หรือดำเนินการอย่างไรเลยจนต่อมาอีกถึง ๑ ปี ๘-๙ เดือน โจทก์ขอบังคับคดี จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำบังคับ ศาลจึงได้สั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ได้ความเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลสั่งไม่ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ไปแล้ว ศาลนั้นเองจะกลับคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่หาชอบไม่ เพราะไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อผิดพลาดเล็กน้อยตามที่ยกเว้นไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๔ ฉะนั้น กระบวนพิจารณาที่ดำเนินใหม่ในตอนหลังจึงนำมาใช้บังคับไม่ได้ ส่วนจำเลยจะมีสิทธิขอให้ยกเลิกเพิกถอนคำพิพากษาได้เพียงไรหรือไม่
เป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวแก่เรื่องนี้ สำหรับค่าธรรมเนียมที่โจทก์ยอมนำมาเสียใหม่นั้นเป็นการทำตามคำสั่งศาล ไม่เกิดผลทำให้เป็นฟ้องใหม่ดังฎีกาจำเลย ฎีกาข้อนี้จึงตกไป
พิพากษายืน

Share