คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1249/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

(1) องค์การสรรพาหารเป็นราชการไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ ไม่ว่าเป็นเอกสารประเภทใด (2) กรณีที่จำเลยมิใช่แต่เพียงเป็นสื่อกลางให้เขาทำสัญญากัน หากแต่จำเลยยังรับสินค้าไปจำหน่าย และชำระเงินค่าสินค้าคืนให้ตัวการโดยจำเลยได้รับบำเหน็จเป็นผลประโยชน์ และจำเลยยังมีอำนาจครอบครองสินค้า แล้วส่งมอบแก่ผู้ซื้อเรียกและรับเงินค่าสินค้า ทั้งหนังสือก็ยังระบุว่าหนังสือสัญญารับเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า อนึ่งการจัดหาระวางเรือโดยจำเลยตกลงกับผู้รับผลแทน โดยองค์การสรรพาหารเสียค่าระวางเองนั้น ย่อมเป็นการที่จำเลยทำในฐานเป็นตัวแทน มิใช่เป็นนายหน้าส่วนการที่จำเลยรับสินค้าไป แม้จะมีผู้ควบคุมโดยต้องตกลงราคากับผู้ควบคุมก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำตามคำสั่งขององค์การ(ตัวการ) (3) การส่งสินค้า เมื่อมีข้อผูกพันอย่างใดก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงแม้บริษัทจำเลยจะมีวัตถุประสงค์ทำกิจการเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยรับสินค้าไปขายแล้ว หักเอาบำเหน็จออกจากเงินที่ขายสินค้าไว้แล้วก็ต้องคืนเงินค่าสินค้าที่รับไปจำเลยจะยกเรื่องวัตถุประสงค์ของบริษัทมาสู้ เพื่อไม่ต้องคืนค่าสินค้าให้เขาหาได้ไม่
อนึ่ง เป็นการมิชอบในการที่จะอ้างว่าองค์การตั้งขึ้นไม่ชอบ ได้เงินมาไม่ชอบ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องคืนเงินที่ตนรับไปในฐานตัวแทนให้แก่ตัวการตามกฎหมาย
(4) เมื่อองค์การสรรพาหารเป็นราชการในสังกัดสำนักคณะรัฐมนตรี โจทก์ โจทก์ ก็มีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินที่ยังตกอยู่แก่จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนได้ (5) ถึงแม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่า จำเลยละเมิดสัญญาตัวแทน คือ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาแต่โจทก์มิได้เรียกค่าเสียหายเนื่องจากตัวแทนทำให้เกิดขึ้นแก่ตัวการหากแต่เรียกเอาเงินที่จำเลยหักไว้เกินคืน คือ เรียกเอาทรัพย์ของตนซึ่งอยู่ที่จำเลยนั่นเองคืน นั้น คดีมีอายุความ 10 ปี (6) ถึงแม้เอกสารที่โจทก์อ้างท้ายฟ้องปรากฏว่าจำเลยมิได้เป็นผู้รับสินค้าและการส่งสินค้าออกก็ทำในนามขององค์การสรรพาหาร โจทก์ก็ย่อมนำสืบถึงหน้าที่และความรับผิดของตัวแทนตามสัญญาได้ ไม่ใช่เป็นการสืบแก้ไขเอกสาร (7) การที่บริษัทขนส่งยอมรับสินค้าของจำเลยที่ 1 บรรทุกเพิ่มเติมลงไปอีก ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทรับขน ส่วนองค์การสรรพาหารมิใช่ผู้รับขน จะเรียกเอาค่าระวางจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถึงแม้องค์การสรรพาหารจะเถียงว่าเป็นผู้เหมาลำเป็นเจ้าของระวางคนอื่นไม่มีสิทธิบรรทุกก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะมิได้มีสัญญารับขนกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องที่บริษัทรับขนจะต้องรับผิดต่อองค์การสรรพาหารเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า คณะรัฐมนตรีลงมติจัดตั้งองค์การสรรพาหารขึ้นโดยให้สำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งบัดนี้เป็นสำนักคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ควบคุมดูแลรับผิดชอบ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 2 ในนามและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับนายทองเปลว ชลภูมิ ในนามและเป็นผู้แทนองค์การสรรพาหารเจ้าหน้าที่ของโจทก์ โดยจำเลยทำสัญญารับเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าขององค์การสรรพาหารสำนักคณะรัฐมนตรีในตลาดต่างประเทศ

จำเลยได้รับแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียว เส้นหมี่ ของโจทก์และส่งไปยังต่างประเทศแล้ว เมื่อจำเลยได้ขายสินค้าขององค์การสรรพาหารแล้ว ต้องส่งเงินค่าขายทั้งหมดแก่องค์การสรรพาหาร ก่อนหักบำเหน็จและรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นแต่จำเลยผิดสัญญาโดยส่งเงินค่าขายเพียงจำนวนที่เหลือจากที่จำเลยหักไว้เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และค่าบำเหน็จก่อน ค่าใช้จ่ายบางรายการก็เกินสมควร ไม่เป็นความจริง และไม่มีหลักฐาน การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดข้อสัญญาและผิดหน้าที่ตัวแทนแต่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินเฉพาะ 6 รายการ

จำเลยมีหน้าที่ส่งเงินค่าขายสินค้าเหล่านี้ให้แก่โจทก์ให้ครบราคาตามจำนวนน้ำหนักที่จำเลยได้รับมอบไป แต่จำเลยได้ส่งขาดจำนวนน้ำหนัก 3 รายการ

ต่อมาคณะรัฐมนตรีลงมติให้ยุบเลิกองค์การสรรพาหาร ตั้งกรรมการชำระบัญชี และสะสางการงานและทรัพย์สิน ปรากฏว่าจำเลยหักเงินค่าใช้จ่ายและค่าบำเหน็จไว้โดยไม่มีอำนาจ ไม่จำเป็นและเป็นการเกินสมควรและยังส่งเงินค่าขายให้ไม่ครบ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยคืนเงินรวม 304,081 บาท จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ใช้พร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยให้การต่อสู้หลายประการ

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์รวม111,903.47 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกากล่าวว่า คดีคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเท่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้เงินให้โจทก์ 3 รายการ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดเลย พร้อมทั้งยกปัญหาข้อตัดฟ้องต่าง ๆ ขึ้นโต้เถียงในชั้นนี้อีกด้วย เว้นแต่เรื่องฟ้องเคลือบคลุม

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยข้อตัดฟ้องของจำเลยที่ 1 ตามลำดับดังนี้.-

(1) จำเลยฎีกาว่า สัญญาตัวแทนเป็นใบมอบอำนาจที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ศาลฎีกาเห็นว่า องค์การสรรพาหารเป็นราชการ ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ไม่ว่าเป็นเอกสารประเภทใด

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามเอกสาร จ.3 จำเลยมิใช่แต่เพียงสื่อกลางชักจูงทั้งสองฝ่ายให้เข้าทำสัญญากัน แต่รับสินค้าขององค์การสรรพาหารไปจำหน่ายแล้วชำระเงินค่าสินค้าคืนให้ตัวการโดยได้รับบำเหน็จเป็นผลประโยชน์ร้อยละ 3 ตามสัญญา จำเลยมีอำนาจครอบครองสินค้าขององค์การส่งมอบแก่ผู้ซื้อ เรียกและรับเงินราคา ทั้งนี้เป็นการทำแทนโดยอำนาจของสัญญา หมาย จ.3 ทั้งเอกสารนี้ก็ระบุว่าหนังสือสัญญารับเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า จำเลยจะเถียงว่าเป็นนายหน้าไม่ต้องรับผิดในสินค้าที่ได้รับไปหาได้ไม่

การจัดหาระวางเรือ จำเลยเป็นฝ่ายตกลงกับผู้รับผลแทนองค์การสรรพาหาร โดยองค์การสรรพาหารเสียค่าระวางเอง นี่ก็เป็นการทำในฐานะเป็นตัวแทนมิใช่เพียงเป็นนายหน้า เพราะจำเลยชำระหนี้แก่ผู้ขนส่งแล้ว จึงคิดเอาแก่องค์การขายสินค้าที่รับไป แม้จะมีผู้ควบคุม โดยต้องตกลงราคากับผู้ควบคุมขององค์การก่อนก็เป็นเรื่องที่ตัวแทนต้องทำตามคำสั่งขององค์การ โดยต้องขายในราคาที่กำหนดเท่านั้น แต่จำเลยต้องทำการจำหน่ายสินค้าแทนองค์การตามสัญญา คือรับมอบสินค้าที่นำส่งถึงเรือ จำเลยต้องชำระราคาล่วงหน้าครึ่งหนึ่งเมื่อตกลงขายแล้วจำเลยต้องส่งมอบสินค้าเรียกและรับเงินราคามาส่งให้องค์การสรรพาหารซึ่งเป็นตัวการ มิใช่เพียงแต่นำผู้ซื้อมาตกลงราคาแล้วเป็นเสร็จธุระก็หาไม่

(2) ศาลฎีกาพิเคราะห์หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัทจำเลยแล้ว ตามข้อ 4(13) บริษัทจำเลยรับทำการรับสั่งและส่งสินค้าต่างประเทศ คำว่า “รับสั่งและส่งสินค้าต่างประเทศ” ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า สั่งสินค้าเข้ามาให้ผู้อื่น หรือส่งสินค้าของผู้อื่นออกไป การรับส่งสินค้าของผู้อื่นออกไปก็เป็นการทำแทนเขานั่นเองฉะนั้น ในการส่งสินค้า เมื่อมีข้อผูกพันอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลง จะแยกว่ารับส่งออกอยู่ในวัตถุประสงค์ข้อตกลงอย่างอื่นอยู่นอกวัตถุประสงค์ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาหมาย จ.3 ซึ่งผู้แทนของตนได้กระทำต่อองค์การสรรพาหาร ถึงแม้ว่าบริษัทจำเลยมีวัตถุประสงค์จะทำกิจการเช่นว่านี้หรือไม่ก็ตาม แต่จำเลยรับเอาสินค้าของโจทก์ไปขายแล้ว จำเลยหักเอาบำเหน็จจากเงินค่าขายสินค้าไว้แล้ว จำเลยก็ต้องคืนค่าสินค้าที่รับไป จำเลยจะยกเรื่องวัตถุประสงค์ของบริษัทมาต่อสู้เพื่อไม่คืนค่าสินค้าให้เขาไม่ได้ จำเลยจะอ้างว่าตัวการคือองค์การสรรพาหารตั้งขึ้นไม่ชอบได้เงินมาไม่ชอบ ก็ไม่ใช่เรื่องของจำเลยที่จะยกมาต่อสู้ เพราะถึงจะชอบหรือไม่ชอบ จำเลยก็ต้องคืนเงินค่าของที่ตนรับไปในฐานะตัวแทนให้แก่ตัวการตามกฎหมายเมื่อองค์การสรรพาหารเป็นราชการในสังกัดของโจทก์ ๆ ก็มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินของตนที่ยังตกอยู่แก่จำเลยผู้เป็นตัวแทนได้

(3) ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้มีอายุความ 10 ปี เพราะเป็นเรื่องที่ตัวการเรียกเอาทรัพย์สินของตนจากตัวแทน คดีนี้ โจทก์มิใช่เรียกเอาค่าเสียหายเพราะตัวแทนทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวการ แต่เป็นการเรียกเอาทรัพย์ที่มอบให้ตัวแทนไปจำหน่าย และเรียกเอาเงินที่หักไว้เกินไป คือ เรียกเอาทรัพย์ของโจทก์ซึ่งอยู่ที่จำเลยนั่นเองฟ้องของโจทก์ก็อ้างว่าจำเลยละเมิดสัญญาตัวแทน คือ ไม่ปฏิบัติตามสัญญา จึงไม่ใช่ข้อหาในทางละเมิด คดีโจทก์หาขาดอายุความไม่

จำเลยต่อสู้ข้อกฎหมายว่า เอกสารที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเป็นหลักแห่งข้อหาตามสำเนาท้ายฟ้อง คือ หนังสือแถลงการณ์ฝากขายและใบขนสินค้าขาออก จำเลยมิได้เป็นผู้รับสินค้าขององค์การสรรพาหาร การส่งออกกระทำในนามขององค์การสรรพาหาร โจทก์จะนำสืบว่าจำเลยเป็นผู้รับและจำหน่ายสินค้าไม่ได้ นั้น

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ย่อมนำสืบได้ว่า โจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญานี้แล้วแม้ใบขนสินค้าขาออก หนังสือแถลงการณ์ฝากขายมิได้ลงชื่อจำเลยเป็นผู้รับหรือเป็นผู้ส่งก็ไม่สำคัญ เพราะมีหนังสือสัญญาหมาย จ.3 ระบุหน้าที่ของคู่สัญญาไว้แล้วว่า องค์การสรรพาหารเป็นผู้จัดทำใบอนุญาตและเสียภาษีเอง จึงลงชื่อองค์การสรรพาหารเป็นผู้ส่ง แต่ตามสัญญาจำเลยต้องตรวจรับสินค้าเมื่อส่งถึงเรือ หน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนในการรับสินค้าเริ่มตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไปดังนั้น โจทก์ย่อมนำสืบถึงหน้าที่และความรับผิดของตัวแทนตามสัญญาได้ หาใช่เป็นการสืบแก้ไขเอกสารดังจำเลยฎีกาไม่

ส่วนข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้รับสินค้าไปตามฟ้องหรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาข้อ 5 จำเลยมีหน้าที่ต้องตรวจรับสินค้าทั้งน้ำหนักด้วยเมื่อจำเลยรับสินค้าไปแล้ว ก็ต้องถือว่ามีน้ำหนักตามใบส่งสินค้า จำเลยจะเถียงว่าน้ำหนักที่ส่งไปไม่ถึงตามฟ้องไม่ได้เพราะน้ำหนักตามใบส่งสินค้ารวมแล้วมีจำนวนตามฟ้อง

จำเลยสู้คดีไว้ว่า การชั่งน้ำหนักสำหรับประเทศไทยกับฮ่องกงและสิงค์โปรต่างกัน ข้อนี้จำเลยนำสืบได้ว่า ประเพณีการขายสินค้าหาบหนึ่งของสิงค์โปรและฮ่องกงเท่า 60.48 กิโลกรัม ส่วนประเทศไทยคิด 60 กิโลกรัมถ้วน ที่โจทก์เรียกร้องให้ใช้ราคาสินค้าขาดน้ำหนัก มิได้หักน้ำหนักที่ชั่งต่างกันออกเสียก่อน ต้องคิดเพิ่มให้หาบละ 480 กรัม ทุกหาบที่ขาย เมื่อหักน้ำหนักชั่งที่ต่างกันออกแล้ว สินค้าแป้งคงขาดเพียง 100.456 หาบ เงิน 53,506.34 บาท เส้นหมี่ คงขาด 74.913 หาบ เงิน 21,549.32 บาท รวมค่าสินค้าที่ขาดน้ำหนักที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ราคา ให้โจทก์เป็นเงิน 75,055.66 บาท

ส่วนค่าสินค้าที่จำเลยหักเป็นค่าใช้จ่ายเอาไว้โดยไม่ถูกต้องนั้น คงมีปัญหาเฉพาะที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิด 2 จำนวน คือ

1. ค่าระวางเรือเที่ยวที่ 5 ศาลฎีกาเห็นว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าระวางที่รับคืนมาให้โจทก์ถูกต้องแล้ว

2. ค่าระวางเรือเที่ยวที่ 4 ศาลฎีกาเห็นว่า การที่บริษัทขนส่งยอมรับสินค้าของจำเลยที่ 1 บรรทุกเพิ่มเติมลงไปอีก เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทรับขน องค์การสรรพาหารมิใช่ผู้ทำการรับขนจะเรียกเอาค่าระวางสินค้าจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ หากจะเถียงว่าองค์การสรรพาหารเหมาลำเป็นเจ้าของระวางอยู่แล้วคนอื่นไม่มีสิทธิบรรทุกสินค้าอีกได้ ข้อนี้เป็นเรื่องที่บริษัทขนส่งจะต้องรับผิดกับองค์การในเรื่องไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขนส่งเหมาลำองค์การสรรพาหารมิได้มีสัญญารับขนกับจำเลย จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าระวางได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าระวางสินค้าของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาต้องตัดเงินจำนวนนี้ออก

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าสินค้าขาดน้ำหนักเงิน 75,055.66 บาท กับค่าระวางเรือเที่ยวที่ 5 เงิน 15,028.87 บาท ฯลฯ

Share