คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เรือนพิพาทเป็นของบิดามารดาจำเลย ตามปกติให้คนเช่าโจทก์ (บิดาจำเลย) มิได้อยู่เอง เมื่อมารดาจำเลยตาย จำเลยซึ่งเป็นบุตรก็ถือว่าตนมีส่วนได้รับมรดกด้วย จึงได้ใช้สิทธิเข้าครอบครองเรือนพิพาทที่ว่างอยู่ ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิเข้าครอบครองทรัพย์มรดก มิได้มีเจตนาบุกรุกอันจะเป็นความผิดทางอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ ช.10 ปลูกอยู่ในที่ดินเช่าจากนายแสวง อินทรตั้ง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2506 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนตลอดมาจนบัดนี้ จำเลยทั้งสองได้บังอาจเข้าไปในบ้านหลังนี้ของโจทก์และเข้าครอบครอง ทั้งยังเสพสุรามึนเมาส่งเสียงเอะอะเป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุขของโจทก์ โจทก์ได้ห้ามและขับไล่จำเลยให้ออกจากบ้านของโจทก์ จำเลยก็ยังขัดขืนไม่ยอมออกไปเหตุเกิดที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 363, 364, 365

จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า เรือนเลขที่ ช.10 เป็นของนางกาหรี่มารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ตายไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2506 จำเลยที่ 1 มีส่วนรับมรดกในเรือนหลังนี้ จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้เข้ามาอยู่ในบ้านเลขที่ ช.10 โดยอำนาจของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2506 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 365(2) ให้ลงโทษตามมาตรา365(2) ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 จำคุกคนละ 3 เดือน

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องตลอดถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี

โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเข้าอยู่โดยมิได้รับอนุญาตยินยอมจากโจทก์ต้องมีความผิด

ตามคำพยานโจทก์จำเลยคงได้ความว่า ระหว่างนางกาหรี่ภรรยาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ ได้ปลูกเรือนขึ้นเป็นเรือนแฝด มีหลังใหญ่และหลังเล็ก หลังเล็กนั้นโจทก์และนางกาหรี่อยู่ ส่วนหลังใหญ่ให้คนเช่า ต่อมานางกาหรี่ตาย ขณะนั้นโจทก์ป่วยหนัก นางบุญชูจึงรับโจทก์ไปอยู่บ้านของตนในระหว่างที่โจทก์ไปอยู่กับนางบุญชูนั่นเอง จำเลยที่ 1 ได้เข้าไปอยู่ที่เรือนหลังใหญ่ซึ่งขณะนั้นไม่ปรากฏว่ามีคนเช่า จำเลยที่ 1 ได้ชวนจำเลยที่ 2 ไปอยู่ด้วย การที่จำเลยที่ 1 เช่าอยู่นี้อ้างว่าเป็นเรือนของมารดาและตนเป็นผู้รับมรดก

ศาลฎีกาเห็นว่า เรือนพิพาทเป็นเรือนของบิดามารดาจำเลย มารดาจำเลยตายจำเลยก็ย่อมมีส่วนได้รับมรดก เรือนหลังนี้ได้ความว่าโจทก์มิได้อยู่เอง เพราะโจทก์อยู่อีกหลังหนึ่งต่างหาก ส่วนเรือนหลังพิพาทตามปกติให้คนเช่า ระหว่างเกิดเหตุน่าจะเป็นเรือนที่ว่างอยู่พอมารดาตาย จำเลยซึ่งเป็นบุตรก็ถือว่าตนมีส่วนได้รับมรดกอยู่ด้วยจึงได้ใช้สิทธิเข้าครอบครอง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิเข้าครอบครองทรัพย์มรดกมิได้มีเจตนาบุกรุกอันจะเป็นความผิดทางอาญา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share