คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6344/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

นายอำเภอขอความร่วมมือจากประชาชนให้ร่วมกันพัฒนาบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ฟันตัดไม้ของโจทก์ในบริเวณนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นของโจทก์ทั้งจำเลยที่ 2 เคยตัดฟันต้นไม้ของโจทก์มาก่อนจนถูกฟ้องมาแล้วครั้งหนึ่ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย การที่นายอำเภอขอความร่วมมือดังกล่าวเป็นแต่เพียงคำแนะนำจำเลยที่ 2 จะกระทำหรือไม่กระทำตามก็ได้มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับโทษ การกระทำของจำเลยที่ 2จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 358, 83, 84, 91 จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา358, 84 จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 335, 83, 91 ฐานทำให้เสียทรัพย์จำคุกคนละ 1 ปี ฐานลักทรัพย์จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 คนละ 2 ปี โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ต่อมาขอถอนฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับข้อหาฐานทำให้เสียทรัพย์นั้นโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกเดินมาหยุดที่หน้าบ้านโจทก์จำเลยที่ 1 ชี้บอกจำเลยที่ 2 ให้ตัดต้นไม้ของโจทก์ พอจำเลยที่ 1สั่งแล้ว จำเลยที่ 1 ก็กลับไป แต่นางสาวเบญจมาศ พุกเมืองซึ่งเป็นบุตรโจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 1 กลับไปหลังจากจำเลยที่ 2ทำการตัดฟันต้นไม้และโจทก์ลงไปทักท้วงจนถูกจำเลยที่ 2 ขู่เข็ญแล้วข้อแตกต่างนี้จึงเป็นพิรุธประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏว่านายทวี นกน้อย นายอำเภอปากท่อ ได้แบ่งกลุ่มประชาชนที่จะร่วมพัฒนาเป็น 3 กลุ่ม และกำหนดหน้าที่ของแต่ละกลุ่มไว้แล้วว่าจะให้กลุ่มใดไปพัฒนาบริเวณใด จึงไม่น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 จะไปเป็นผู้นำชี้ให้จำเลยที่ 2 ตัดฟันต้นไม้ของโจทก์อีก ส่วนกรณีของจำเลยที่ 2 นั้นนอกจากตัวโจทก์และนางสาวเบญจมาศจะเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 2ได้ตัดต้นไม้ดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 ทราบอยู่แล้วว่าเป็นต้นไม้ของโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 2 เคยตัดฟันไม้ของโจทก์มาก่อนจนถูกฟ้องมาแล้วครั้งหนึ่ง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2439/2527 ของศาลแขวงราชบุรี ซึ่งคดีดังกล่าวโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ไปเพราะจำเลยที่ 2 ยินยอมชำระค่าเสียหายให้โจทก์500 บาท ตามพฤติการณ์จึงแสดงว่าจำเลยที่ 2 เจตนาทำให้ต้นไม้ของโจทก์เสียหาย ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าทำตามคำสั่งของนายทวีนายอำเภอปากท่อและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 นั้น เห็นว่า การที่นายอำเภอขอความร่วมมือจากประชาชนให้ร่วมกันพัฒนาบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นแต่เพียงคำแนะนำจำเลยที่ 2 จะกระทำหรือไม่กระทำตามก็ได้ มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 เมื่อจำเลยที่ 2 เจตนาทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหานี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 จำคุก 1 ปี และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share