คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 634/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและมีคำสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ไปจนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2543 แต่โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ตามที่ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จึงต้องถือว่าคำพิพากษาถึงที่สุดในวันครบกำหนดระยะเวลาขยายอุทธรณ์คือ วันที่ 28 ตุลาคม 2543 โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องที่ศาลชั้นต้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ยังไม่พ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,525,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,890,364 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,525,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 4,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินสวนลำไยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 278, 1401 และ 1402 ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เนื้อที่ 64 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวา จากนายสมพร ในราคา 11,525,000 บาท ในวันทำสัญญา จำเลยที่ 2 ออกเช็คของจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อจำเลยที่ 2 พร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มอบให้นายสมพร 3 ฉบับ เป็นเงิน 2,500,000 บาท ให้นายป้อมชัย 2 ฉบับ เป็นเงิน 1,525,000 บาท เช็คที่ออกให้นายป้อมชัยเป็นเช็คธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนช้างเผือก ลงวันที่ 15 กันยายน 2540 และวันที่ 15 ตุลาคม 2540 สั่งจ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท และ 525,000 บาท ตามลำดับ ในวันเดียวกันนายป้อมชัยสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวให้แก่นายอำนาจสามีโจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าปุ๋ย ต่อมาจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายกับนายสมพร โดยยอมให้นายสมพรริบเงินที่จ่ายให้ไปจำนวน 750,000 บาท และขอรับเช็คที่มอบให้ฝ่ายนายสมพรคืน แต่นายอำนาจไม่ยอมคืนเช็คให้โดยอ้างว่านายสมพรและนายป้อมชัยยังเป็นหนี้นายอำนาจอยู่ จำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งให้ธนาคารตามเช็คระงับการจ่ายเงิน ต่อมานายอำนาจนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ก่อนฟ้องคดีนี้นายอำนาจนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2541 ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2543 ศาลจังหวัดลำพูนวินิจฉัยว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่และภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่จึงฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดลำพูนไม่ได้ พิพากษายกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีไปฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ นายอำนาจเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2542 โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายอำนาจจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์ระบุว่าหลังจากศาลจังหวัดลำพูนพิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดลำพูนแล้ว ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2543 ศาลจังหวัดลำพูนมีคำสั่งขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ให้โจทก์ไปจนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2543 แต่โจทก์ไม่ประสงค์จะอุทธรณ์ในคดีเดิมจึงนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลชั้นต้นภายใน 60 วัน นับแต่คดีดังกล่าวถึงที่สุด ในประเด็นข้อนี้จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีแต่เพียงว่า ศาลจังหวัดลำพูนพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2543 โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องที่ศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 พ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาศาลจังหวัดลำพูนถึงที่สุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่า ศาลจังหวัดลำพูนมิได้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ดังคำฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นที่ยุติว่า ศาลจังหวัดลำพูนมีคำสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ไปจนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2543 โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบ นอกจากนี้คำพิพากษาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปจนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2543 แต่จำเลยทั้งสองก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าก่อนครบกำหนดอุทธรณ์โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์และศาลจังหวัดลำพูนได้อนุญาตแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าศาลจังหวัดลำพูนอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์นั้น เห็นว่า เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือคำอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อรับฟังได้ว่าศาลจังหวัดลำพูนมีคำสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์จนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2543 จึงต้องถือว่าคำพิพากษาศาลจังหวัดลำพูนถึงที่สุดในวันครบกำหนดระยะเวลาขยายอุทธรณ์คือ วันที่ 28 ตุลาคม 2543 โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องที่ศาลชั้นต้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ยังไม่พ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาศาลจังหวัดลำพูนถึงที่สุด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่า โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ตามที่ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลา อุทธรณ์โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าวันครบกำหนดระยะเวลาขยายอุทธรณ์เป็นวันที่คำพิพากษาศาลจังหวัดลำพูนถึงที่สุดนั้น เห็นว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้เป็นไปเช่นนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาในชั้นนี้ให้รวมกับเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share