แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของบริษัทตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายมีหน้าที่จำหน่ายสินค้าและเก็บรวบรวมเงินค่าสินค้าจากลูกค้าส่งให้บริษัทตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจของบริษัทให้กระทำการได้เพียงเท่าที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น หามีอำนาจกระทำกิจการอื่นใดนอกเหนือจากนี้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(3) การที่จำเลยที่ 1 โดยลำพังหรือร่วมกับจำเลยที่ 2 ยักยอกทรัพย์ของบริษัทบริษัทย่อมเป็นผู้เสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทจึงมิใช่ผู้เสียหายตามความในมาตรา 2(4) อันจะมีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2)
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 353, 83, 86 ศาลชั้นต้นยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทโดยได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมกรรมการบริษัทโดยชอบก็ตาม แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างบริษัทตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายมีหน้าที่จำหน่ายสินค้าและเก็บรวบรวมเงินค่าสินค้าจากลูกค้าส่งให้บริษัท ฉะนั้นตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 1จึงเป็นเพียงตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจของบริษัทให้กระทำการได้เพียงเท่าที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น หามีอำนาจกระทำกิจการอื่นใดนอกเหนือจากนี้ได้ไม่ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(3) การที่จำเลยที่ 1 ตามลำพังหรือจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ยักยอกทรัพย์ของบริษัทบริษัทย่อมเป็นผู้เสียหายตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4) โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และเป็นบุคคลหนึ่งต่างหากจากบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) อันจะพึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 28(2) การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้นั้น ชอบแล้ว”
พิพากษายืน