คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6320/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เอกสารการชำระหนี้ของจำเลยแม้จะมีโจทก์ในฐานะผู้ให้กู้ได้ลงลายมือชื่อไว้แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้วกลับได้ความว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยเนื่องในกรณีที่จำเลยค้ำประกันหนี้รายที่ฉ. เป็นผู้กู้เงินไปจากโจทก์เท่ากับว่าจำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ฉบับอื่นไม่ใช่ชำระหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ดังนั้นเอกสารดังกล่าวจะรับฟังเป็นหลักฐานการใช้เงินรายนี้ไม่ได้และจำเลยจะนำสืบว่าเงินที่ชำระแทนฉ. กับเงินที่โจทก์กู้โจทก์ตามฟ้องเป็นหนี้รายเดียวกันก็เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 12,231.25 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 9,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ได้กู้เงินตามฟ้องจากโจทก์จริง แต่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหลักฐานการรับเงินเอกสารท้ายคำให้การ
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำฟ้องคำให้การคดีพอวินิจฉัยได้ สั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยว่าเอกสารที่จำเลยอ้างท้ายคำให้การมิใช่หลักฐานที่จะนำสืบการใช้เงินในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 9,500 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน2,731.25 บาท
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์แล้ว จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญากู้จริงแต่ได้ชำระแล้ว ดังนี้ เท่ากับว่าจำเลยรับว่าได้ทำสัญญากู้ตามฟ้องจริงแต่ต่อสู้ว่า จำเลยได้ชำระแล้ว ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่า จำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้แล้วหรือไม่เท่านั้นเมื่อจำเลยต่อสู้ว่าได้ชำระแล้วตามเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายมีเพียงว่าเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการใช้เงินเป็นหนังสือดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า การนำสืบถึงการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้กู้มาแสดงจึงจะรับฟังได้แต่เมื่อพิเคราะห์เอกสารท้ายคำให้การของจำเลยดังกล่าวแล้วแม้จะมีโจทก์ในฐานะผู้ให้กู้ได้ลงลายมือชื่อไว้ แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดดูแล้วกลับได้ความว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยเนื่องในกรณีที่จำเลยค้ำประกันหนี้รายที่นายเฉลิม ไกรคุ้ม เป็นผู้กู้เงินไปจากโจทก์ เท่ากับว่าจำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ฉบับอื่นไม่ใช่ชำระหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ ดังนั้นเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยดังกล่าวจะรับฟังเป็นหลักฐานการใช้เงินรายนี้หาได้ไม่และจำเลยจะนำสืบว่าเงินที่ชำระแทนนายเฉลิมกับเงินที่กู้โจทก์ตามฟ้องเป็นหนี้รายเดียวกันก็เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share