คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6317/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้นำสมุดเงินฝากของธนาคารไปยื่นประกอบเรื่องราวขอวีซ่าไปประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่า สมุดเงินฝากของธนาคารเป็นเอกสารปลอม เมื่อคดีโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำปลอมสมุดเงินฝากของธนาคาร ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยรู้ว่าสมุดเงินฝากของธนาคารเป็นเอกสารปลอม โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยใช้เอกสารปลอม ย่อมมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าสมุดเงินฝากของธนาคารปลอม ซึ่งถ้าจำเลยไม่รู้ความจริงดังกล่าวแม้จำเลยนำเอกสารไปใช้ จำเลยก็ไม่มีความผิดทางอาญา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายหลายคนบังอาจลักเอาแบบพิมพ์สมุดเงินฝากประจำ ซึ่งยังไม่ได้ใช้ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาบางลำภูเล่มหมายเลข ก.863126-863150 จำนวน 25 เล่มไป ต่อมาจำเลยได้นำสมุดบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาบางลำภูเล่มหมายเลข ก.863139 ซึ่งเป็นสมุดเงินฝากส่วนหนึ่งที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าวไปยื่นต่อผู้มีชื่อเพื่อประกอบเรื่องขอวีซ่าเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา ณ สถานกงสุลอเมริกา ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมสมุดเงินฝากของธนาคารกสิกรไทยจำกัด สาขาบางลำภู เล่มหมายเลข ก. 863139 ซึ่งถูกคนร้ายลักไปดังกล่าว ทั้งนี้โดยจำเลยได้ร่วมกับพวกที่หลบหนีลักทรัพย์ดังกล่าวหรือมิฉะนั้นก็รับเอาสมุดเงินฝากของธนาคารกสิกรไทย จำกัด ดังกล่าวนั้นไว้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ และจำเลยกับพวกที่หลบหนีได้บังอาจร่วมกันปลอมสมุดเงินฝากประจำของธนาคารกสิกรไทย จำกัด ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิขึ้นทั้งเล่มโดยจำเลยกับพวกนำสมุดเงินฝากประจำของธนาคารกสิกรไทย จำกัดเล่มหมายเลข ก.863139 มากรอกข้อความให้เป็นสมุดเงินฝากประจำของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พิมพ์ชื่อนางสาวจิรพร ใจสิทธากุล และจำเลยเป็นผู้ฝากร่วมกัน พิมพ์จำนวนเงินลงในสมุดนั้นและปลอมลายมือชื่อพนักงานธนาคารกสิกรไทย จำกัดลงในช่องผู้รับมอบอำนาจพร้อมทั้งปลอมรอยตราธนาคารกสิกรไทยจำกัด ประทับลงในสมุดเงินฝากนั้น ต่อมาจำเลยได้บังอาจนำสมุดเงินฝากประจำที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำปลอมขึ้นดังกล่าวมาใช้ประกอบหลักฐานการขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา ต่อพนักงานสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด พนักงานสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา ผู้อื่นและประชาชนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268,335, 357 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 11 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 มาตรา 268 วรรคแรก แต่ให้ลงโทษฐานใช้ตามมาตรา 268วรรคสอง ให้จำคุก 2 ปี ให้คืนสมุดของกลางแก่เจ้าของ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามฟ้องหรือไม่ สำหรับข้อหาปลอมเอกสารหมาย จ.1 นั้น โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบว่า จำเลยปลอมเอกสารดังกล่าว คดีคงได้ความจากการนำสืบพยานของโจทก์เพียงว่าจำเลยได้นำเอกสารหมาย จ.1 ไปยื่นประกอบเรื่องราวขอวีซ่าไปประเทศสหรัฐอเมริกา โดยยื่นต่อนางสมพงษ์ โกมลฤทธิ์ ผู้ช่วยกงสุลอเมริกันประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2529 และปรากฏว่า เอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอม แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบว่า จำเลยรู้หรือไม่ว่าเอกสารหมายจ.1 นั้นเป็นเอกสารปลอม เมื่อคดีโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำปลอมเอกสารหมาย จ.1 ก็ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยรู้ว่าเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอม โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยใช้เอกสารปลอมนั้นโจทก์ก็มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเอกสารหมาย จ.1ปลอม เพราะจำเลยอาจไม่รู้ว่าเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอมตามที่จำเลยนำสืบก็ได้ ซึ่งถ้าจำเลยไม่รู้ความจริงดังกล่าวแม้จำเลยนำเอกสารนั้นไปใช้ จำเลยก็ย่อมไม่มีความผิดทางอาญา เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่า จำเลยใช้เอกสารหมาย จ.1 โดยรู้อยู่แล้วว่าเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอม คดีก็ฟังลงโทษจำเลยไม่ได้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share