แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสี่เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์และอ้างว่าได้ยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์กับแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยทั้งสี่แล้ว จำเลยทั้งสี่จะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่ตามคำให้การไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้แสดงเจตนาดังกล่าวให้โจทก์ทราบ จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจอ้างเหตุแห่งการครอบครองเกิน 1 ปี มายันโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นข้อที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การเป็นประเด็นไว้มาด้วยก็เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พ.ร.บ. ว่าด้วยลักษณะ ฐานะ ของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ. 128 ข้อ 5 บัญญัติว่า มิสซังจะร้องว่าเป็นเจ้าของที่ดินได้แต่ในชื่อของมิสซังเองนั้น มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการห้ามโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้เช่าที่ดินของโจทก์ หรือบุคคลที่มิได้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในหนังสือสำหรับที่ดินหรือโฉนดที่ดินในเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดินนั้น แม้ที่ดินพิพาทจะมีชื่อ ว. เป็นผู้ครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่ได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีว่า หนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์ติดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์มาเบิกความรับรองต้นฉบับและส่งสำเนาเป็นพยานหลักฐานแทนโดยรับต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงคืนไป จำเลยทั้งสี่ก็ไม่ได้ถามค้านหรือโต้แย้งคัดค้าน จึงยังไม่ได้ความว่าต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์ติดอากรแสตมป์ไว้เป็นจำนวนเงินเท่าใด จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์ติดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คู่ความพิพาทกันในเรื่องสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาทซึ่งมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาทส่วนหนึ่ง และเรื่องขับไล่เพราะผิดสัญญาเช่าซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกส่วนหนึ่ง แต่ละส่วนแยกจากกันได้ สิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องแยกพิจารณาตามส่วนดังกล่าว จำเลยทั้งสี่โต้แย้งข้อเท็จจริงว่าการเช่าที่ดินพิพาทเป็นการเช่านาเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า การบอกเลิกการเช่าของโจทก์ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 34 และโต้แย้งค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินปีละ 500 บาท ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ข้อโต้แย้งดังกล่าวอยู่ในส่วนคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และเป็นคดีที่โจทก์ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินพิพาทอันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง
จำเลยทั้งสี่ฎีกาคำสั่ง โดยขอให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ชำระเพิ่มเติมมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่าได้เปลี่ยนลักษณะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ประกอบกับฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้ออื่นไม่มีปัญหาโต้แย้งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาท ศาลฎีกาจึงคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ชำระเพิ่มเติมมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ให้จำเลยทั้งสี่ กรณีเป็นไปตามคำขอของจำเลยทั้งสี่แล้ว จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาคำสั่งของจำเลยทั้งสี่ต่อไป
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสี่สำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสี่สำนวนว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่พร้อมบริวารขนย้ายสัมภาระและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสี่เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป และให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไร่ละ 500 บาท ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวสมจิตรบุตรของจำเลยที่ 4 เข้าเป็นคู่ความแทน และนายประเสริฐบุตรของจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยให้เรียกนางสาวสมจิตรและนายประเสริฐว่าผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ทั้งนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่และบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสี่เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทของโจทก์ตามฟ้อง จำเลยทั้งสี่จึงยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยทั้งสี่จะอ้างได้ว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์และแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยทั้งสี่แล้ว จำเลยทั้งสี่จะต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครองว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่ตามคำให้การของจำเลยทั้งสี่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้แสดงเจตนาดังกล่าวให้โจทก์ทราบ จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจอ้างเหตุแห่งการครอบครองเกิน 1 ปี ตามคำให้การของจำเลยทั้งสี่มายันโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทซึ่งเป็นข้อที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การเป็นประเด็นไว้มาด้วยก็เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าปัญหาตามฎีกาข้อนี้เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์เป็นมิสซังจะร้องว่าเป็นเจ้าของที่ดินได้แต่ในชื่อของมิสซังเอง และมิสซังจะถือที่ดินได้ในชื่อของมิสซังอย่างเดียวตามความในข้อ 5 และข้อ 18 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ. 128 แต่ตาม น.ส. 3 ของที่ดินพิพาทมีชื่อนายวิศิษฏ์ เป็นผู้ครอบครองไม่ใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการห้ามมิสซังฟ้องผู้เช่าที่ดินของมิสซัง แม้มิสซังจะมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินก็ตาม ดังนั้น แม้ที่ดินพิพาทจะมีชื่อนายวิศิษฏ์เป็นผู้ครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แต่เมื่อได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ได้ไม่เป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่ฎีกาต่อไปว่า หนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์ติดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ตามกฎหมาย เห็นว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีในปัญหาข้อนี้ไว้ และขณะที่นายมนัสผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ได้รับรองต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงพร้อมส่งสำเนาเป็นพยานหลักฐานแทนโดยรับต้นฉบับคืนไป จำเลยทั้งสี่ก็ไม่ได้ถามค้านหรือโต้แย้งคัดค้านให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ติดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจช่วงไม่ครบถ้วน อีกทั้งในสำนวนคงมีแต่สำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วง ซึ่งไม่จำต้องติดอากรแสตมป์ตามกฎหมายในชั้นนี้จึงยังไม่ได้ความว่า หนังสือมอบอำนาจช่วงของโจทก์ติดอากรแสตมป์ไว้เป็นจำนวนเงินเท่าใด ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้จึงถือได้ว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
สำหรับปัญหาที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์บอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นการเช่านาโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 34 และค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินปีละ 500 บาท ต่อไร่ นั้น เห็นว่า คดีนี้คู่ความพิพาทกันในเรื่องสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาทซึ่งมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาทส่วนหนึ่ง และเรื่องขับไล่เพราะผิดสัญญาเช่าซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกส่วนหนึ่ง แต่ละส่วนแยกจากกันได้ สิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงคดีนี้จึงต้องแยกพิจารณาตามส่วนดังกล่าว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้อยู่ในส่วนคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีที่โจทก์ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินพิพาทอันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง การบอกเลิกการเช่านาต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ต่างจากการบอกเลิกการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอย่างอื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ให้จำเลยทั้งสี่เช่าที่ดินพิพาทเพื่อทำการเกษตรกรรม จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์บอกเลิกการเช่านาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงว่าการเช่าที่ดินพิพาทเป็นการเช่านาเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า การบอกเลิกการเช่าของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น และที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินปีละ 500 บาท ต่อไร่ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในปัญหานี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนปัญหาที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสี่เป็นคดีที่ไม่มีทุนทรัพย์เพื่อขอให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จำเลยทั้งสี่ชำระเพิ่มเติมมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์นั้น เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยทั้งสี่เปลี่ยนลักษณะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท ประกอบกับตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ไม่มีปัญหาโต้แย้งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองเหนือที่ดินพิพาท ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ชำระเพิ่มเติมมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ ให้จำเลยแต่ละสำนวนตามส่วนที่คำนวณจากทุนทรัพย์แต่ละคดี กรณีเป็นไปตามคำขอที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาคำสั่งแล้ว จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาคำสั่งของจำเลยทั้งสี่ต่อไป
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จำเลยทั้งสี่ชำระเพิ่มเติมมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ในแต่ละสำนวนให้จำเลยตามสำนวนคดีนั้น ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ.