แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 มีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแต่เพียงทางเดียว การที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 14 ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และเงินประกันซึ่งเป็นเงินตามสิทธิใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541เป็นกรณีที่เลือกใช้สิทธิดำเนินการต่อจำเลยด้วยการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาลแรงงานอีกจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุด เมื่อระหว่างที่พนักงานตรวจแรงงานพิจารณาคำร้องนั้น โจทก์ที่ 1 ถึง ที่ 4 และโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 14 ได้นำมูลกรณีเลิกจ้างอันเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางอีก ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 14 ที่ฟ้องเรียกเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 14 จะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุอายุความ
โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 15 และที่ 16 ถอนคำร้องที่ยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงานก่อนยื่นคำฟ้อง ดังนั้น ในขณะยื่นคำฟ้องจึงไม่มีคำร้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงานโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 15 และที่ 16 จึงมีอำนาจฟ้อง แม้ว่าโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 15 และที่ 16 จะไม่ระบุในคำขอถอนคำร้องดังกล่าวว่าประสงค์จะดำเนินคดีทางศาลเองก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องเสียไป
ย่อยาว
คดีทั้งสิบหกสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 16 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสิบหกสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบหกเป็นลูกจ้างจำเลย ได้รับค่าจ้างรายวันโดยมีวันเริ่มทำงาน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายและอายุงานตามที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 18 และวันที่ 3 ของเดือน วันที่ 28 ธันวาคม 2545 จำเลยประชุมแจ้งว่าจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกในวันที่ 2 มกราคม 2546 เมื่อถึงวันที่ 2 มกราคม 2546 โจทก์ทั้งสิบหกไปทำงานตามปกติแต่ไม่สามารถตอกบัตรลงเวลาทำงานได้ หัวหน้างานแจ้งว่าจำเลยไล่โจทก์ทั้งสิบหกออกแล้ว ถือว่าจำเลยมีเจตนาเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกโดยโจทก์ทั้งสิบหกไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน ให้จำเลยคืนเงินประกันจำนวน 500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 8 กับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างระหว่างวันที่ 1 ถึง วันที่ 15 ธันวาคม 2545 จำนวน 2,310 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 16
จำเลยทั้งสิบหกสำนวนให้การว่า จำเลยประกอบกิจการผลิตเทียนไข ปี 2544 มีลูกจ้างประมาณ 250 คน สถานประกอบการตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครเนื่องจากสถานที่คับแคบ จำเลยต้องการลดต้นทุนการผลิตและขยายกำลังการผลิต จึงจำเป็นต้องย้ายสถานประกอบการไปอยู่ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันที่ 9 กันยายน 2545 โดยจำเลยสร้างห้องพักให้ลูกจ้างที่จะย้ายมายังสถานประกอบการใหม่จังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ 7 สิงหาคม 2545 จำเลยประชุมและประกาศให้ลูกจ้างทราบถึงการย้ายสถานประกอบการ ลูกจ้างที่ประสงค์จะย้ายไปอยู่ที่สถานประกอบการใหม่ให้แจ้งความประสงค์ต่อฝ่ายบุคคล มีลูกจ้างต้องการไปทำงานที่สถานประกอบการใหม่ประมาณ 60 คน ลูกจ้างบางส่วนลาออก คงเหลือลูกจ้างบางส่วนทำงานอยู่ที่เดิมโดยทำหน้าที่เก็บสินค้าและห่อเทียนเก่า สถานประกอบการเดิมใช้เป็นโกดังเก็บสินค้า ส่วนงานการผลิตทั้งหมดย้ายไปทำที่สถานประกอบการใหม่ เดือนธันวาคม 2545 จำเลยแจ้งแก่ลูกจ้างที่ทำงาอยู่ที่สถานประกอบการเดิมว่างานที่สถานประกอบการเดิมมีเพียงเล็กน้อย งานส่วนใหญ่อยู่ที่สถานประกอบการใหม่ ลูกจ้างที่ต้องการไปทำงานที่สถานประกอบการใหม่ให้แจ้งความประสงค์ต่อหัวหน้าบรรจุ แผนกหีบห่อ หากผู้ใดประสงค์ลาออกก็ยื่นใบลาออก โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 15 ยื่นใบลาออกและรับเงินโบนัสไปจากจำเลยแล้ว โจทก์ที่ 16 ไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2546 เป็นต้นมาโดยไม่แจ้งเหตุ วันที่ 20 มกราคม 2546 โจทก์ที่ 16 แจ้งต่อจำเลยว่าจะกลับมาทำงานแต่ก็ไม่มาทำงาน จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหก จำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 16 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 18 และวันที่ 3 ของเดือน วันที่ 7 สิงหาคม 2545 จำเลยออกประกาศแจ้งลูกจ้างว่าจำเลยจะย้ายสถานประกอบการไปอยู่ที่ใหม่ในวันที่ 9 กันยายน 2545 เป็นต้นไป ลูกจ้างผู้ประสงค์ไปทำงานที่สถานประกอบการใหม่ให้แจ้งรายชื่อที่ฝ่ายบุคคล โจทก์ทั้งสิบหกไม่สามารถย้ายไปทำงานที่สถานประกอบการใหม่ได้ ยังคงทำงานอยู่ที่สถานประกอบการเดิมถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2545 สำหรับวันที่ 29 ธันวาคม 2545 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2546 เป็นวันหยุด เทศกาลปีใหม่ วันที่ 2 มกราคม 2546 ซึ่งเป็นวันเปิดทำงานวันแรกโจทก์ทั้งสิบหกไปทำงานตามปกติ แต่เมื่อไปถึงไม่มีบัตรลงเวลาทำงานของโจทก์ทั้งสิบเสีอบไว้ที่ป้อมยามตามปกติ วันที่ 3 มกราคม 2546 โจทก์ทั้งสิบหกร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงาน วันที่ 14 มกราคม 2546 นายบุญฤทธิ์ แสนพาน หัวหน้าพนักงานตรวจจังหวัดสมุทรสาครเรียกนายสุพัฒน์ อนันตกฤตยาธร กรรมการผู้จัดการของจำเลยและโจทก์ทั้งสิบหกมาไกล่เกลี่ยแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ วันเดียวกันนั้นโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ยื่นใบลาออกต่อจำเลย วันที่ 15 มกราคม 2546 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 7 ถึงที่ 16 ยื่นใบลาออกต่อจำเลย จำเลยจ่ายค่าจ้าง เงินโบนัส และเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ทั้งสิบหก ต่อมาโจทก์ทั้งสิบหกถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงาน ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารหมาย จล.1 ล.1 ถึง ล.5 ล.7 และ ล.8 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยให้เวลาลูกจ้างผู้ไม่ย้ายตามไปทำงานที่สถานประกอบการใหม่ได้ทำงานอยู่ที่สถานประกอบการการเดิมจนถึงสิ้นปี 2545 คือวันที่ 28 ธันวาคม 2545 วันที่ 2 มกราคม 2546 จำเลยจงใจไม่ให้โจทก์ทั้งสิบหกใช้บัตรลงเวลาทำงานและจำเลยไม่มีงานให้โจทก์ทั้งสิบหกทำในสถานประกอบการเดิม จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2546 โดยโจทก์ทั้งสิบหกไม่มีความผิดและจำเลยไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า โจทก์ทั้งสิบหกคนถอนคำร้องทุกข์และยุติเรื่องที่พนักงานตรวจแรงงานแล้ว จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีทางศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 16 เป็นเงินคนละ 2,640 บาท แก่โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 2,768 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 เป็นเงินคนละ 39,600 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 16 เป็นเงินคนละ 29,700 บาท แก่โจทก์ที่ 5ที่ 6 เป็นเงินคนละ 14,850 บาท แก่โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 51,900 บาท แก่โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 4,950 บาท แก่โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 49,500 บาท คืนเงินประกันแก่โจทก์ที่ 8 เป็นเงิน 500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่างหน้าและเงินประกัน และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าชดเชย นับแต่วันฟ้องจนกว่า จะชำระเสร็จ คำขออื่นของโจทก์ที่ 16 ให้ยก
จำเลยทั้งสิบหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานมีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าโจทก์ทั้งสิบหกถอนคำร้องที่ยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงานก่อนยื่นคำฟ้องหรือไม่
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามคำสั่งศาลฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ถอนคำร้องภายหลังวันยื่นคำฟ้อง โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 15 และที่ 16 ถอนคำร้องก่อนวันยื่นคำฟ้อง โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 14 ถอนคำร้องในวันที่ยื่นคำฟ้องแต่เป็นเวลาภายหลังจากที่ยื่นคำฟ้องแล้ว
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยประการเดียวตามที่ศาลแรงงานกลางสั่งรับมาว่าโจทก์ทั้งสิบหกมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ถอนคำร้องที่ยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายหลังวันยื่นคำฟ้อง โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 14 ถอนคำร้องที่ยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงานในวันที่ยื่นคำฟ้องแต่เป็นเวลาภายหลังจากที่ยื่นคำฟ้องแล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 มีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งระหว่างใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้แต่เพียงทางเดียว จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ การที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 9 ถึง ที่ 14 ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และเงินประกันซึ่งเป็นเงินตามสิทธิในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 14 เลือกใช้สิทธิดำเนินการต่อจำเลยด้วยการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 14 จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาลแรงงานอีกจนกว่าจะดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุด เมื่อปรากฏว่าระหว่างที่พนักงานตรวจแรงงานพิจารณาคำร้องนั้น โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 14 ได้นำมูลกรณีเลิกจ้างอันเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางอีก ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4และโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 14 ที่ฟ้องเรียกเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 14 ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุอายุความสำหรับโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 15 และที่ 16 ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าได้ถอนคำร้องที่ยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงานก่อนยื่นคำฟ้อง ดังนั้น ในขณะยื่นคำฟ้องจึงไม่มีคำร้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 15 และที่ 16 จึงมีอำนาจฟ้อง แม้ว่าโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 15 และที่ 16 จะไม่ระบุในคำขอถอนคำร้องดังกล่าวว่าประสงค์จะดำเนินคดีทางศาลเองก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องเสียไป อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 14 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.