คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6300/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคสอง เป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่า ผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ ผู้ร้องมีพยานบุคคลเพียงปากเดียวเบิกความว่าได้มีการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยเพียงมีหนังสือสอบถามเกี่ยวกับการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเงินฝากในธนาคารของจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องไม่มีพยานบุคคลหรือพยานเอกสารใดๆ แสดงให้ปรากฏต่อศาลว่า ผู้ร้องได้กระทำการอย่างอื่นอันจะถือได้ว่าเป็นการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้อีก การดำเนินการของผู้ร้องเพียงเท่านี้ เห็นว่า ไม่พอเพียงที่ศาลจะฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องเรียกราคาค่าสินค้าจากจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 73,100 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง มีนายศุภรัตน์เป็นอธิบดี มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้อง การดำเนินคดีนี้ได้มอบอำนาจให้นายไพรัชดำเนินคดีแทน จำเลยค้างชำระค่าภาษีอากรของสำนักงานสรรพากร เขตพญาไท จำนวนหลายรายการเป็นเงินจำนวน 417,949.28 บาท ผู้ร้องตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยแล้วไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินอื่นใดที่จะให้ผู้ร้องดำเนินการยึดอายัดเพื่อนำมาชำระหนี้ได้ ต่อมาทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีกรมบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์จำนวน 17 รายการ ของจำเลย โดยขายแล้วเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2544 จำนวน 9 รายการ เป็นเงินจำนวน 24,900 บาท ผู้ร้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสาม และตรวจสอบไม่พบว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดอันจะพึงยึด อายัด มาขายทอดตลาดชำระหนี้ นอกจากทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดไว้ ขอให้ผู้ร้องได้รับเฉลี่ยเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยและที่จะขายในครั้งต่อๆ ไป
โจทก์คัดค้านว่า จำเลยค้างชำระค่าภาษีผู้ร้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนั้นจำเลยยังประกอบกิจการ ผู้ร้องปล่อยปละละเลยเป็นเวลาหลายปี โดยไม่ได้ติดตามหรือตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อทำการยึดอายัดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 และจำเลยยังมีทรัพย์สินอีกจำนวนมากไม่น้อยกว่า 800,000 บาท ซึ่งผู้ร้องสามารถที่จะยึดอายัดมาชำระหนี้ได้แต่ผู้ร้องมิได้กระทำ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์พ้นกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยตามที่โจทก์ได้นำยึดไว้ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องสามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของจำเลยได้หรือไม่ ผู้ร้องมีพยานบุคคลเบิกความ 1 ปาก คือนายสุเทพขณะเบิกความมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีระดับ 5 ทำหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรสำหรับผู้เสียภาษีที่อยู่ในเขตพญาไทเบิกความเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยว่า “หลังจากที่มีการดำเนินการประเมินภาษีไปยังจำเลยแล้ว จำเลยก็ยังไม่เคยนำภาษีค้างชำระมาชำระให้แก่ผู้ร้องแต่อย่างใด จากนั้นฝ่ายกฎหมายของผู้ร้องจึงได้ดำเนินการสอบสวนติดตามสืบหาทรัพย์ของจำเลย ซึ่งทำการตรวจสอบเกี่ยวกับที่ดินและบัญชีเงินฝากในธนาคาร สำหรับในส่วนของที่ดินนั้นจากการตรวจสอบแล้วไม่พบว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใด ตามหนังสือขอตรวจสอบที่ให้ดู อ้างส่งศาลหมาย ร.30 และในส่วนของการตรวจสอบบัญชีเงินฝากในธนาคารหลายธนาคารพบว่าจำเลยมีเงินฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่สีลม และพบที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรางน้ำ ตามหนังสือที่ให้ดู อ้างส่งศาลหมาย ร.31 จากนั้นได้ทำการอายัดเงินจำนวนดังกล่าวและให้ส่งเงินดังกล่าวมาทำการหักชำระหนี้…” เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสอง บัญญัติว่า “ไม่ว่ากรณีใด ๆ ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเช่นว่านี้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา” โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ คดีนี้ผู้ร้องมีพยานบุคคลเพียงปากเดียวคือนายสุเทพเบิกความเกี่ยวกับการสืบหาทรัพย์สินของผู้ร้องซึ่งได้ความจากคำเบิกความของพยานเกี่ยวกับเรื่องนี้เพียงว่าได้มีการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยเพียงมีหนังสือสอบถามเกี่ยวกับการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเงินฝากในธนาคารของจำเลยเท่านั้น นอกจากพยานบุคคลดังกล่าวแล้วผู้ร้องไม่มีพยานบุคคลหรือพยานเอกสารใด ๆ แสดงให้ปรากฏต่อศาลว่า ผู้ร้องได้กระทำการอย่างอื่นอันจะถือได้ว่าเป็นการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้อีก การดำเนินการของผู้ร้องเพียงเท่านี้เห็นว่าไม่พอเพียงที่ศาลจะฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share