แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ชายหญิง เป็นสามีภริยากันตั้งแต่ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ตลอดมาจนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว แม้จะมิได้จดทะเบียนสมรส ก็นับว่า ชายหญิงนั้นเป็นคู่สมรสกันตามกฎหมาย ฉะนั้นชายจึงไม่มีสิทธิจะทำการสมรสกับหญิงอื่นอีก เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1445(3)บัญญัติห้ามมิให้ชายหญิงทำการสมรส เมื่อยังเป็นคู่สมรสของบุคคลอื่นอยู่ ภริยาเดิมขอให้เพิกถอนทะเบียนสมรสที่ชายไปจดใหม่นั้นเสียได้
ย่อยาว
คดีได้ความว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่ พ.ศ. 2467 ก่อนประกาศในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นสามีภริยากันตลอดมาจนบัดนี้ แต่แยกกันอยู่ ครั้นวันที่26 มกราคม 2492 จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนสมรสกันที่อำเภอเมืองภูเก็ต ขณะที่โจทก์ยังเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 อยู่ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาว่า การจดทะเบียนระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะและให้เพิกถอนเสีย จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่เคยจดทะเบียนสมรสกัน โจทก์เป็นภรรยาจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายเก่าตามกฎหมายเก่าให้ชายมีภรรยาได้หลายคน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะให้เพิกถอนการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองนั้นเสีย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากันอยู่แม้จะมิได้จดทะเบียนสมรส (เพราะก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ก็นับว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นคู่สมรสกันตามกฎหมาย ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิทำการสมรสได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1445(3) บัญญัติห้ามมิให้ชายหรือหญิงทำการสมรส เมื่อยังเป็นคู่สมรสของบุคคลอื่นอยู่
จึงพิพากษายืน