คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 จำเลยที่ 1 และ ส. มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2539 ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังนั้น สำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า รู้จักกับโจทก์ตั้งแต่เด็กเนื่องจากโจทก์มีบ้านอยู่ติดกับบ้านมารดาของจำเลยที่ 2 และทราบว่า ภายหลังโจทก์และจำเลยที่ 1 สมรสกันแล้วมีทรัพย์สินเป็นที่ดินพิพาทโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสองทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 เสียค่าตอบแทนแต่ก็เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
แม้โจทก์ฎีกาขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองแล้ว ศาลชั้นต้นกลับพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเฉพาะในส่วนของโจทก์หนึ่งในสี่ อันเป็นการมิได้พิพากษาให้เป็นไปตามข้อหาในคำฟ้องและพิพากษาเกินไปกว่าในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9182 เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวในส่วนของโจทก์และจำเลยที่ 1 แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 450,000 บาท โดยไม่สุจริตและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายดังกล่าว กับให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบต่อให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 และนางสมฤทัยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม นิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองทำโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่สินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมตามฟ้องโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 9182 ที่จำเลยทั้งสองทำเมื่อวันที่ 19 กันยาน 2547 ในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หนึ่งในสี่ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 9182 มีชื่อนางสมฤทัยและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 นางสาวสมฤทัยและจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต และศาลต้องพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมขายที่พิพาททั้งหมด มิใช่เพิกถอนเฉพาะในส่วนของโจทก์นั้น ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายตามสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัว เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนางโกศลมารดาของโจทก์ ต่อมานางโกศลขายให้แก่นายชำนาญวิทย์พี่เขยของโจทก์ และนายชาญวิทย์ขายต่อให้แก่โจทก์ในราคา 200,000 บาท แต่โจทก์มีเงินไม่พอจึงไปยืมเงินจากนางสมฤทัยน้าของจำเลยที่ 1 อีก 80,000 บาท ไปซื้อ โดยให้จำเลยที่ 1 และนางสมฤทัยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาโจทก์กู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 200,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 และนางสมฤทัยนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันโจทก์ผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารตลอดมาตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ต่อมาโจทก์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดลพบุรี จำเลยที่ 1 ไปพบโจทก์และนำเอกสารไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อโดยหลอกโจทก์ว่าเป็นเอกสารขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แล้วนำเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเพื่อนกับโจทก์ตั้งแต่เด็กทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 และนางสมฤทัยร่วมกันซึ้อที่ดินพิพาทในปี 2539 หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันปลูกบ้านบนที่ดินพิพาท ระหว่างปลูกบ้านโจทก์กู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยนำที่ดินพิพาทไปจำนองเป็นประกัน ต่อมาในปี 2543 ธนาคารทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ว่าจะขายที่ดินพิพาท แต่โจทก์ไม่ยอมให้ขาย จำเลยที่ 1 ไม่ฟังและร่วมกับนางสมฤทัยขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ในราคา 450,000 บาท แล้วแบ่งเงินให้นางสมฤทัยครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือนำไปชำระแก่ธนาคาร 200,000 บาท เพื่อไถ่ถอนจำนองตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.1 ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 รู้จักกับโจทก์มาก่อนเนื่องจากโจทก์มีบ้านอยู่ติดกับบ้านมารดาของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการโรงกลึงอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทเพื่อนำไปปลูกสร้างโรงงาน เนื่องจากอยู่ใกล้บ้านมารดาของจำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์มีโจทก์เบิกความเป็นพยานยืนยันประกอบสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวและสำเนาโฉนดที่ดิน โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ฟังได้ว่าโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 จำเลยที่ 1 และนางสมฤทัยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2539 ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังนั้น สำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า รู้จักกับโจทก์ตั้งแต่เด็กเนื่องจากโจทก์มีบ้านอยู่ติดกับบ้านมารดาของจำเลยที่ 2 และทราบว่า ภายหลังโจทก์และจำเลยที่ 1 สมรสกันแล้วมีทรัพย์สินเป็นที่ดินพิพาท โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสองทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ แม้จำเลยที่ 2 เสียค่าตอบแทน แต่ก็เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง แม้โจทก์ฎีกาขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองแล้ว ศาลชั้นต้นกลับพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเฉพาะในส่วนของโจทก์หนึ่งในสี่ อันเป็นการมิได้พิพากษาให้เป็นไปตามข้อหาในคำฟ้องและพิพากษาเกินไปกว่าในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีเสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9182 ฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 ระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท

Share