แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 วรรคท้ายได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้การยื่นหรือส่งคำคู่ความหรือ เอกสารอื่นใดอันจะต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ เจ้าพนักงานคู่ความ หรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องจะต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์นั้น และมาตรา 156 วรรคท้าย บัญญัติโดยชัดแจ้งให้การอุทธรณ์คำสั่งต้องทำเป็นคำร้อง ดังนั้น การอุทธรณ์คำสั่งจึงต้องทำตามรูปแบบอุทธรณ์คำสั่งโดยใช้แบบพิมพ์คำร้อง (แบบ 7)เท่านั้น หาใช่ต้องทำตามรูปแบบอุทธรณ์คำสั่งทั่วไปโดยใช้แบบพิมพ์อุทธรณ์ (แบบ 32) ไม่ เมื่อจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยก คำขอของจำเลยที่ขอฎีกาอย่างคนอนาถาโดยใช้แบบพิมพ์คำร้อง(แบบ 7) ตามที่ศาลจัดไว้ตามรูปแบบอุทธรณ์คำสั่ง จึงเป็นการใช้แบบพิมพ์ถูกต้องแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยจัดทำอุทธรณ์คำสั่งโดยใช้แบบพิมพ์อุทธรณ์ (แบบ 32)ย่อมเป็นการสั่งโดยผิดหลงและไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังกล่าว ทั้งต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง ไม่รับฎีกาและให้ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลย เสียด้วย ก็เป็นการสั่งและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นทั้งหมดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) และมาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกจำนวน 1,290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 1,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ฎีกาและยื่นคำร้องขอฎีกาอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่ายากจนเพราะไปทำไม้ที่ประเทศเขมร ไม่สามารถนำไม้ออกมาได้ จำเลยที่ 1 ยืมเงินจากญาติจำนวนมากแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1พอมีฐานะและมีทางยืมเงินจากญาติ จึงไม่พอฟังว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาล และคดีของจำเลยที่ 1ไม่มีเหตุสมควรที่จะฎีกา ให้ยกคำร้อง หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะฎีกาให้นำค่าธรรมเนียมศาลมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายใน 15 วันจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา อ้างว่ายากจนขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1จัดทำอุทธรณ์คำสั่งโดยใช้แบบพิมพ์อุทธรณ์ (แบบ 32) มายื่นต่อศาลชั้นต้นภายใน 7 วัน แต่จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งคืนค่าคำร้องแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อแรกว่า การยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำขออนาถาในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 จะต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์คำร้อง (แบบ 7) ตามที่จำเลยที่ 1 ทำยื่นต่อศาลหรือจะต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์อุทธรณ์ (แบบ 32) ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นในข้อนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 วรรคท้ายได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า “ในการยื่นหรือส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดอันจะต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ เจ้าพนักงานคู่ความ หรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องจะต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์นั้น”และมาตรา 156 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้เฉพาะบางส่วน หรือมีคำสั่งให้ยกคำขอเสียทีเดียว ถ้าเป็นการฟ้องหรือต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น” ดังนั้น เมื่อตามมาตรา 156 วรรคท้าย บัญญัติโดยชัดแจ้งให้การอุทธรณ์คำสั่งต้องทำเป็นคำร้อง การอุทธรณ์คำสั่งจึงต้องทำตามรูปแบบอุทธรณ์คำสั่งโดยใช้แบบพิมพ์คำร้อง (แบบ 7) เท่านั้น หาใช่ต้องทำตามรูปอุทธรณ์คำสั่งทั่วไปโดยใช้แบบพิมพ์อุทธรณ์ (แบบ 32)แต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำขอของจำเลยที่ 1 ที่ขอฎีกาอย่างคนอนาถาโดยใช้แบบพิมพ์คำร้อง (แบบ 7) ตามที่ศาลจัดไว้ และเสียค่าคำร้อง 40 บาท ตามรูแบบอุทธรณ์คำสั่ง จึงเป็นการใช้แบบพิมพ์ถูกต้องแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 ให้จำเลยที่ 1 จัดทำอุทธรณ์คำสั่งโดยใช้แบบพิมพ์อุทธรณ์ (แบบ 32)ย่อมเป็นการสั่งโดยผิดหลงและไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เมื่อต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2540 ศาลชั้นต้นยังได้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์2540 ไม่รับฎีกา และให้ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยที่ 1 เสียนั้น ก็เป็นการสั่งและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นทั้งหมดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) และมาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งเมื่อวันที่10 กุมภาพันธ์ 2540 และวันที่ 11 มีนาคม 2540 กับให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์คำสั่งอุทธรณ์คำสั่งฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 ของจำเลยที่ 1ตามรูปคดีต่อไป