คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 กับพวกฉุดผู้เสียหายขึ้นไปบนรถแล้วระหว่างทางมีการกระทำอนาจารผู้เสียหายในวันเดียวกันนั้น เป็นการกระทำความผิดต่อตัวผู้เสียหายต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
ปัญหาเรื่องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่าในชั้นอุทธรณ์ ก็สามารถยกขึ้นว่าในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317, 310, 279, 91, 83 และริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยขู่เข็ญและโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 2 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุก 1 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 9 ปี รวมจำคุกคนละ 12 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี ริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีโดยขู่เข็ญและโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง และฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามมาตรา 310 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ข้อนี้แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่าในชั้นอุทธรณ์ แต่ปัญหาเรื่องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 2 ย่อมยกขึ้นว่าในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 กับพวกฉุดผู้เสียหายขึ้นไปบนรถแล้วระหว่างทางมีการกระทำอนาจารผู้เสียหายในวันเดียวกันนั้น เป็นการกระทำความผิดต่อตัวผู้เสียหายต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยขู่เข็ญและโดยการใช้กำลังประทุษร้ายกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นความผิดคนละกรรมจึงไม่ถูกต้อง และศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ผู้มิได้ฎีกาด้วย เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่า โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 279 และมาตรา 317 วรรคใด ศาลล่างทั้งสองไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 279 วรรคสอง และมาตรา 317 วรรคสาม ได้ เนื่องจากเป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องนั้น เห็นว่า แม้คำฟ้องของโจทก์จะมิได้ระบุวรรคมาก็ตาม แต่คำขอท้ายฟ้องนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ระบุแต่เพียงให้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดเท่านั้น หาได้บังคับว่าจะต้องระบุว่าวรรคใดด้วยไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย หาได้บังคับว่าจะต้องระบุว่าวรรคใดด้วยไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดในวรรคใดก็พิพากษาว่ากระทำความผิดในวรรคนั้นได้ ไม่เป็นการเกินคำขอ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม, 83 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญและโดยใช้กำลังประทุษร้าย กับฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยขู่เข็ญและโดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 9 ปี รวมจำคุกคนละ 11 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share