คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 63/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองแต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยากันตั้งแต่ปี 2476ก่อนประกาศใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477แม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันก็เป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีอำนาจฟ้อง แม้มิได้บรรยายในคำฟ้องว่าเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองก็สามารถนำสืบถึงสถานภาพการสมรสของโจทก์ทั้งสองได้เพราะเป็นเรื่องรายละเอียดที่จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จึงไม่เป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกคำฟ้อง
โจทก์ทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดฐานละเมิดมาในคำฟ้องเดียวกัน จึงต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองรวม 240,000 บาทก็ถือว่าทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาของโจทก์แต่ละคนคือคนละ 120,000 บาทการที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ม.ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยทั้งสองและไม่ได้กระทำในทางการที่จ้าง ม.ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท และค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์แต่ละคนสูงเกินไป เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง

Share