คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายและฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ1ปีเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกามีไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ที่ดินที่ตั้งโรงเรียนพิพาทเป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุซึ่งให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เมื่อจำเลยกระทำละเมิดโดยขุดดินในที่ราชพัสดุขึ้นมาใช้ถมในการก่อสร้างโรงเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจฟ้องเมื่อไม่ปรากฎว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้โจทก์ฟ้องคดีโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามรับผิดฐานละเมิดเมื่อจำเลยที่2และที่3อุทธรณ์โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์และไม่ได้แก้อุทธรณ์ในประเด็นความรับผิดตามสัญญาของจำเลยที่1ประเด็นความรับผิดตามสัญญาของจำเลยที่1จึงยุติในชั้นอุทธรณ์แล้วไม่เป็นประเด็นวินิจฉัยในชั้นฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โรงเรียนพรตพิทยพยัต เป็นหน่วยงานของโจทก์เมื่อระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2521 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม2521 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวในโรงเรียนของโจทก์ ใช้รถแทรกเตอร์ขุดไถดินภายในบริเวณโรงเรียนพรตพิทยพยัต ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุที่โจทก์ขอสงวนไว้ใช้ในราชการสำหรับโรงเรียนพรตพิทยพยัต เป็นเหตุให้พื้นดินที่ขุดเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อขนาดกว้างประมาณ120 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร ปริมาตรดินที่ถูกขุดจำนวน 1,690ลูกบาศก์เมตร อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์และฝ่าฝืนสัญญาที่ทำไว้ต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 รับราชการในสังกัดกรมโจทก์ โดยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพรตพิทยพยัต มีหน้าที่ตรวจและควบคุมการจ้างให้ดำเนินไปตามข้อกำหนดในสัญญา จำเลยที่ 3ในฐานะนายช่างโยธา กองออกแบบและก่อสร้าง สังกัดโจทก์ ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวของโรงเรียนพรตพิทยพยัต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันจงใจส่งเสริม ช่วยเหลือ ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขุดไถดินภายในโรงเรียนพรตพิทยพยัต ขึ้นมาถมบริเวณที่ทำการก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว อันเป็นการละเมิดและฝ่าฝืนข้อสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงิน 152,100 บาท จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ โจทก์ได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายจำนวน 152,100 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะที่ราชพัสดุเป็นของกระทรวงการคลังและกระทรวงการคลังหรือกรมธนารักษ์ไม่ได้เป็นโจทก์หรือร่วมเป็นโจทก์หรือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ ค่าเสียหายตามฟ้องไม่เป็นความจริง คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่เคยแต่งตั้งหรือมีคำสั่งใด ๆ ให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวตามแบบก่อสร้างที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่มีหน้าที่ใด ๆที่จะต้องควบคุมดูแลการก่อสร้างดังกล่าว จำเลยที่ 3 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์หรือจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 หาจำต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ไม่ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน152,100 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรม นางฉลวยวงศ์สุภานิชกุล ภรรยาของจำเลยที่ 3 ยื่นร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสาม
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย และโจทก์ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ตัวผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีไม่ขาดอายุความล้วนแต่เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยเพียงข้อเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินที่ตั้งโรงเรียนพิพาทเป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุพ.ศ. 2518 มาตรา 4 ซึ่งตามมาตรา 5 ประกอบด้วยมาตรา 11 ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยที่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดโดยจำเลยที่ 1 ขุดดินในที่ราชพัสดุขึ้นมาใช้ถมในการก่อสร้างโรงเรียน และโจทก์นำสืบว่า โจทก์มีสิทธิใช้สอยที่ราชพัสดุดังกล่าว ดังนี้เห็นได้ว่าเหตุละเมิดดังกล่าวเป็นการกระทำต่อที่ราชพัสดุซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจฟ้อง เมื่อไม่ปรากฎว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้โจทก์ฟ้องคดี โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดหรือไม่นั้นไม่เป็นประเด็นวินิจฉัยในชั้นนี้ เพราะศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามรับผิดฐานละเมิด เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์และไม่ได้แก้อุทธรณ์ในประเด็นความรับผิดตามสัญญาของจำเลยที่ 1ประเด็นความรับผิดตามสัญญาของจำเลยที่ 1 จึงยุติในชั้นอุทธรณ์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share