แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างหรือใช้ผู้มีชื่อให้ฆ่าผู้เสียหาย และผู้มีชื่อนั้นได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยว่าจ้าง ร.ไปฆ่าผู้เสียหายแต่ร. ไม่ทำตามที่จำเลยว่าจ้างคนร้ายที่ยิงผู้เสียหายไม่ใช่ผู้ที่จำเลยว่าจ้าง ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ ทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้และไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างหรือใช้ผู้มีชื่อฆ่าผู้เสียหาย ต่อมาบุคคลที่ได้รับการใช้หรือจ้างจากจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าตามที่ได้รับการใช้หรือจ้างจากจำเลย แต่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 84, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 84 วรรคสอง จำคุก 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานจ้างหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานพยายามฆ่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังว่าคนร้ายที่ลอบยิงผู้เสียหายในวันที่ 31 มกราคม 2530 ได้รับการจ้างวานจากจำเลยคดีฟังได้ว่าก่อนผู้เสียหายถูกลอบยิงในวันเวลาดังกล่าว จำเลยเคยว่าจ้างนายราเหม นาคสง่า ไปฆ่าผู้เสียหายแล้วครั้งหนึ่ง แต่นายราเหมไม่ยอมทำตามที่จำเลยว่าจ้าง โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาดังกล่าวดังนั้น การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์และโจทก์ฎีกาขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ปัญหาข้อกฎหมายในชั้นฎีกามีว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องและโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างหรือใช้ผู้มีชื่อให้ฆ่าผู้เสียหาย และผู้มีชื่อนั้นได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยว่าจ้างนายราเหมไปฆ่าผู้เสียหาย แต่นายราเหมไม่ยอมทำตามที่จำเลยว่าจ้าง คนร้ายที่ยิงผู้เสียหายไม่ใช่ผู้ที่จำเลยว่าจ้างดังนั้นข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญ ทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ และถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลย ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา192 วรรคสองและวรรคสี่…”
พิพากษายืน.