คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6296/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเสนอข้อหาว่าจำเลยทำผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้โจทก์จะตั้งข้อหาหรือฐานความผิดในคำฟ้องว่าเป็นเรื่องละเมิดและบรรยายฟ้องด้วยว่าโจทก์ตรวจสอบรู้ตัวผู้รับผิดว่าคือจำเลยก็ตามก็หาทำให้คำฟ้องคดีนี้เป็นคำฟ้องที่โจทก์เสนอข้อหาว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์แต่เพียงอย่างเดียวไม่
สิทธิเรียกร้องในกรณีผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
จำเลยมิได้ต่อสู้คดีไว้ในคำให้การว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรกซึ่งศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว แต่ปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
คดีทั้งสองเป็นคดีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์เสียหาย แต่คดีแรกเป็นเรื่องจำเลยร่วมกับพวกทำให้สินค้าขาดจำนวนไปจากบัญชีรายรับรายจ่าย ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยรับฝากเงินจากสมาชิกของโจทก์แล้วไม่ลงบัญชีเงินสดรับครบจำนวนที่รับฝาก เป็นเหตุให้เงินขาดหายไป มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจึงเป็นคนละกรณีกัน แม้โจทก์จะตรวจสอบทางบัญชีว่ามีสินค้าของโจทก์ขาดหายไปจากบัญชีและยังมีเงินขาดบัญชีอีกส่วนหนึ่งก็ตาม โจทก์ก็ยังมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นคนละคดีได้หาจำต้องรวมฟ้องเป็นคดีเดียวกันไม่ฟ้องโจทก์ในคดีนี้มิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ ทำงานตำแหน่งผู้จัดการร้านสหกรณ์จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงาน โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้าง โดยสมาชิกนำเงินมาฝาก 200,000 บาท และ 600,000 บาทจำเลยที่ 1 นำเงินที่สมาชิกของโจทก์นำมาฝากโจทก์ทั้งสองครั้งมารวมลงในสมุดบัญชีเงินสดรับของโจทก์เป็นเงิน 543,000 บาท ทำให้ยอดรายรับในส่วนเงินฝากของสมาชิกขาดหายไป ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2538 เป็นเงิน 257,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 257,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2538 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 97,981 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 354,981 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 257,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า คดีขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่รับฝากเงินและไม่ได้ทุจริต ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้ค้ำประกันกรณีทุจริตแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 354,981 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 257,000 บาท นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งผู้จัดการร้านสหกรณ์โจทก์จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมดูแลกิจการร้านค้าโจทก์ กับมีหน้าที่ตรวจสอบสินค้าที่มีอยู่ให้ตรงกับบัญชีรายรับรายจ่ายรายวันอยู่สม่ำเสมอ และนำเงินรายได้จากรายรับในแต่ละวันลงในสมุดบัญชีเงินสดรับในแต่ละวัน แล้วนำรายรับทั้งหมดนำฝากเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาแพร่ ต่อมาระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างไม่ได้ทำหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับที่โจทก์ได้มอบหมาย โดยสมาชิกของโจทก์ได้นำเงินมาฝากกับจำเลยที่ 1 รวม 2 ครั้ง เป็นเงินรวม 800,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้บันทึกการรับฝากในสมุดคู่ฝากของสมาชิกแต่ไม่ได้บันทึกการรับฝากทั้งสองรายการลงในสมุดเงินสดรับของโจทก์ในวันที่รับฝาก แต่นำมารวมลงเป็นรายการรับฝากในสมุดเงินสดรับในภายหลังเป็นเงินรวม 543,000บาท การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้ยอดรายรับของโจทก์ในส่วนเงินฝากของสมาชิกเงินฝากของโจทก์ขาดหายไปโดยไม่ได้นำฝากเข้าบัญชีโจทก์ที่ธนาคารเป็นเงินจำนวน 257,000 บาท อันเป็นการทำผิดหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินจำนวน 257,000 บาท จะเห็นได้ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องเสนอข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้โจทก์จะตั้งข้อหาหรือฐานความผิดในคำฟ้องว่าเป็นเรื่องละเมิดและบรรยายฟ้องด้วยว่าโจทก์ตรวจสอบรู้ตัวผู้รับผิด ผู้ทำละเมิดต่อโจทก์คือจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็หาทำให้คำฟ้องคดีนี้เป็นคำฟ้องที่โจทก์เสนอข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แต่เพียงอย่างเดียวไม่ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ทั้งศาลแรงงานกลางก็รับฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเป็นยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการร้านสหกรณ์โจทก์มีหน้าที่รับฝากเงินจากสมาชิกด้วย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นกรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งมีอายุความ 10 ปี คดีไม่ขาดอายุความนั้น จึงหาได้เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องหรือประเด็นแห่งคดีดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อมาว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ในข้อนี้แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ต่อสู้คดีไว้ในคำให้การว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 1269/2540 (คดีหมายเลขแดงที่ 172/2541) ของศาลจังหวัดแพร่ ซึ่งศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วก็ตาม แต่ปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองย่อมยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 พิเคราะห์แล้ว คำฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 1269/2540 ของศาลจังหวัดแพร่ โจทก์ฟ้องโดยเสนอข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์โจทก์ได้ร่วมกับบุคคลอื่นซึ่งเป็นลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลทำให้สินค้าขาดจำนวนไปจากบัญชีรายรับรายจ่ายจำนวนหลายรายการซึ่งคิดเป็นค่าราคาสินค้าที่ขาดไปจำนวนทั้งสิ้น172,768 บาท จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ แต่คดีนี้โจทก์เสนอข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์โจทก์รับฝากเงินจากสมาชิกร้านค้าของโจทก์รวม 2 ครั้ง เป็นเงินรวม800,000 บาท จำเลยที่ 1 บันทึกการรับฝากในสมุดคู่ฝากของสมาชิก แต่ไม่ได้บันทึกการรับฝากทั้งสองรายการลงในสมุดเงินสดรับของโจทก์ในวันที่รับฝาก แต่นำมารวมลงเป็นรายการรับฝากในสมุดเงินสดรับในภายหลังเป็นเงินรวม 543,000 บาท ทำให้ยอดรายรับของโจทก์ในส่วนเงินฝากของสมาชิกเงินฝากของโจทก์ขาดไปโดยไม่ได้นำฝากเข้าบัญชีโจทก์ที่ธนาคารเป็นเงินจำนวน 257,000 บาท อันเป็นการทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินจำนวน 257,000 บาท จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ จะเห็นได้ว่า แม้คดีทั้งสองจะเป็นคดีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์เสียหายก็ตาม แต่คดีแรกเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกทำให้สินค้าขาดจำนวนไปจากบัญชีรายรับรายจ่าย ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 รับฝากเงินจากสมาชิกของโจทก์แล้วไม่ลงบัญชีเงินสดรับ มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจึงเป็นคนละกรณีกัน แม้โจทก์จะตรวจสอบทางบัญชีว่ามีสินค้าของสหกรณ์โจทก์ขาดหายไปจากบัญชีและยังมีเงินขาดบัญชีอีกส่วนหนึ่งก็ตาม โจทก์ก็ยังมีอำนาจฟ้อง ให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นคนละคดีได้ หาจำต้องรวมฟ้องเป็นคดีเดียวกันดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้มิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share