แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีอาญามีกฎหมายห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน เมื่อจะเอาจำเลยเป็นผู้ต้องหาก็ต้องสอบสวนในฐานะผู้ต้องหา เพราะจะต้องบอกให้จำเลยทราบก่อนว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134การที่พนักงานสอบสวนจำเลยเป็นพยาน แล้วโจทก์จะอ้างคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยในฐานะพยานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เป็นการมิชอบ แม้คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นคำรับซึ่งปรักปรำและเป็นผลร้ายแก่ตนเองก็รับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะขัดต่อมาตรา 226.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265,266, 268, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266, 268, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 268 กระทงเดียวจำคุก 1 ปี คำให้การในฐานะพยานชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ในคดีอาญาพยานหลักฐานที่จะฟังลงโทษจำเลยต้องเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ ทั้งมีกฎหมายห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน เมื่อจะเอาจำเลยผู้ต้องหาก็ต้องสอบสวนในฐานะผู้ต้องหา เพราะจะต้องบอกให้จำเลยทราบก่อนว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวอาจใช้พยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 บัญญัติไว้ การที่พนักงานสอบสวนจำเลยเป็นพยานแล้วโจทก์จะอ้างคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยในฐานะพยานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เป็นการมิชอบ เมื่อเป็นพยานที่มิชอบแล้ว แม้คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นคำรับซึ่งปรักปรำและเป็นผลร้ายแก่ตนเองก็รับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226
พิพากษายืน.