คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6280/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอมมิใช่ลายมือของโจทก์ดังนั้นจำเลยจึงไม่อาจบังคับการใช้เงินจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาได้จำเลยจึงหาหลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1008วรรคหนึ่ง จำเลยประกอบธุรกิจการธนาคารเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนการรับฝากเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยและการจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินจากธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลยซึ่งจะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คยิ่งกว่าบุคคลธรรมดาทั้งต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วไปการที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาท2ฉบับโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมจึงเป็นการขาดความระมัดระวังเป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์จำเลยจะอ้างขอตกลงตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันที่ว่าจำเลยต้องเก็บรักษาสมุดในที่ปลอดภัยและถ้าสมุดเช็คหายต้องแจ้งให้โจทก์ทราบทันทีเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตามมาตรา1008วรรคหนึ่่งตอนท้ายหาได้ไม่ จำเลยมอบสมุดเช็คไว้ให้แก่โจทก์เพื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็คก่อนหน้านั้นเช็คพิพาท2ฉบับรวมอยู่ในสมุดเช็คที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ข้อเท็จจริงที่ว่าเช็คพิพาทตกไปอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นจนกระทั่งสามารถนำแบบพิมพ์เช็คทั้งสองฉบับมาปลอมลายมือชื่อโจทก์ได้นั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการดูแลรักษาแบบพิมพ์เช็คดังกล่าวอันถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณศาลกำหนดให้จำเลยใช้เงินตามเช็คพิพาทเพียงบางส่วน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารจำเลย ต่อมาได้มีผู้นำเช็คลงวันที่ 18 กันยายน 2532สั่งจ่ายเงินจำนวน 274,000 บาท และเช็คลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2532สั่งจ่ายเงินจำนวน 240,000 บาท มาเบิกเงินสดไปจากยอดเงินฝากในบัญชีของโจทก์ซึ่งการสั่งจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าว โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะจำเลยมิได้ปฏิบัติตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดและประมาทเลินเล่อมิได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายว่า เหมือนกับลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้เป็นตัวอย่างกับจำเลยหรือไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักทอนบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ จำเลยต้องรับผิดคืนเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 549,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 514,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ใช้เงินให้แก่บุคคลผู้มาขอขึ้นเงินตามเช็คให้แก่ผู้ถือไปโดยสุจริต และปราศจากความประมาทเลินเล่อเช็คทั้งสองฉบับนั้น โจทก์เป็นผู้สั่งจ่ายเอง หรือมิฉะนั้นโจทก์ตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลย ตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันของโจทก์กับจำเลย เช็คทั้งสองฉบับมิได้มีคนร้ายลักเอาไปเขียนรายการต่าง ๆ รวมทั้งจำนวนเงินและลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด จำเลยมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาบัญชีเดินสะพัด เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่สั่งจ่ายจากตัวเช็คแต่ละเล่มที่เย็บติดอยู่ในสมุดเช็คที่ธนาคารจำเลยสาขาพรานนกมอบให้แก่โจทก์ไว้ใช้สั่งจ่ายเช็คจากบัญชีกระแสรายวันโดยมีเงื่อนไขตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันของโจทก์จำเลยว่าโจทก์จะต้องเก็บรักษาสมุดดังกล่าวไว้ในที่ซึ่งมั่นคงปลอดภัย และต้องไม่มอบเช็คที่ยังไม่กรอกข้อความให้แก่ผู้อื่นเป็นอันขาดหากโจทก์ละเลยหรือประมาทเลินเล่อให้บุคคลอื่นได้เช็คไปปลอมลายมือชื่อของโจทก์ และธนาคารจำเลยจ่ายเงินไปตามเช็คนั้น จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์สำหรับจำนวนเงินที่จ่ายไป ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน จำเลยแถลงรับรายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญเอกสารหมาย จ.ล.1 เป็นความเห็นที่ถูกต้อง โจทก์แถลงรับว่าได้เปิดบัญชีกระแสรายวันตามเอกสารหมาย ล.1 ได้รับสมุดเช็คตามตัวอย่างสมุดเช็คเอกสารหมาย ล.2 จากจำเลย และการ์ดบัญชีเงินฝากเอกสารหมาย ล.3 ถูกต้อง ศาลเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 549,550 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 514,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารจำเลยเมื่อวันที่ 26กรกฎาคม 2520 ตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย ล.1 ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 20 กำหนดให้ผู้ฝาก (โจทก์) จะต้องเก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในที่ซึ่งมั่นคงปลอดภัยและต้องไม่มอบเช็คที่ยังไม่กรอกข้อความให้แก่ผู้อื่นเป็นอันขาด หากผู้ฝากละเลยหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปปลอมลายมือชื่อของผู้สั่งจ่าย และธนาคารหลงเชื่อจ่ายเงินตามเช็คปลอมนั้น ๆ ไป ธนาคารไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ฝากสำหรับเงินจำนวนที่จ่ายไปนั้น และข้อ 21 กำหนดว่าถ้าสมุดเช็คทั้งเล่มหรือฉบับใดหายไป ผู้ฝากต้องรีบแจ้งให้ธนาคารทราบทันที จำเลยได้จ่ายสมุดเช็คให้โจทก์เพื่อสั่งจ่ายเงินไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2532 และวันที่ 21 พฤศจิกายน 2532 มีผู้นำเช็คเลขที่ 5750099 ลงวันที่ 18 กันยายน 2532 และเช็คเลขที่ 5750100ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2532 ตามลำดับ ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารจำเลยโดยลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คทั้งสองฉบับปลอม จำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับไปและได้หักเงินออกจากบัญชีของโจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย ล.3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับเงินจำนวนที่จ่ายไปตามเช็คพิพาท 2 ฉบับดังกล่าวหรือไม่เพียงใด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือชื่อปลอมก็ดีเป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลยใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาซึ่งจะพึงยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายพิพาท 2 ฉบับ เป็นลายมือชื่อปลอมมิใช่ลายมือชื่อของโจทก์ดังนั้นจำเลยจึงไม่อาจบังคับการใช้เงินจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาได้จำเลยจึงหาหลุดพ้นความรับผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ อนึ่งจำเลยประกอบธุรกิจการธนาคารเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การรับฝากเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลย และการจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินจากธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลย ซึ่งจะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อลายมือของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดาทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไป เพราะเป็นธุรกิจของจำเลย การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาท 2 ฉบับ ให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ ทั้งทีมีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้กับธนาคารกับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่ธนาคารจำเลยไปเช่นนี้ จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจการธนาคารเป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์และจำเลยจะอ้างเอาข้อตกลงตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 20 และ 21 ดังกล่าวมาแล้วเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกเอาข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตามมาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ตอนท้ายหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้มอบสมุดเช็คไว้ให้แก่โจทก์เพื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็คโดยสมุดเช็คแต่ละเล่มมีจำนวนเช็ค 20 ฉบับ ก่อนหน้านั้นเช็คพิพาท2 ฉบับ รวมอยู่ในสมุดเช็คที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ข้อเท็จจริงที่ว่าเช็คพิพาทตกไปอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นจนกระทั่งสามารถนำแบบพิมพ์เช็คทั้งสองฉบับมาปลอมลายมือชื่อโจทก์ได้นั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการดูแลรักษาแบบพิมพ์เช็คดังกล่าว อันถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 วรรคหนึ่ง,438 และ 442 ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 250,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share