คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6279/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หุ้นส่วนและผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ 1 เข้าไปทำการก่อสร้างงานงวดที่ 8 ในฐานะที่ตนเป็นผู้รับจ้างจากผู้ร้อง มิใช่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 เงินที่โจทก์ขออายัดนั้นจึงไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 จะมีสิทธิได้รับจากผู้ร้อง โจทก์จึงไม่อาจขออายัดเงินจำนวนดังกล่าวได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าจ้างงานงวดที่ 8 ให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยในผลของประเด็นที่ว่ามีเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 1อยู่ที่ผู้ร้องตามที่ขออายัดหรือไม่ อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่ว่ากันมาโดยตรง.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ให้ร่วมกันชำระเงินตามเช็ค 17 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,577,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นหนี้จำเลยที่ 1 ในค่าจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์การค้าที่อำเภอหาดใหญ่จำนวน 2,000,000 บาท ขอให้สั่งอายัดชั่วคราวเป็นจำนวน 900,000 บาทศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดให้ตามขอและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแพ้คดีผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้ร้องไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องชำระเงินให้จำเลยที่ 1 ขอให้ยกเลิกหมายอายัด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง เมื่อศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ผู้ร้องส่งเงินตามหมายอายัดชั่วคราวผู้ร้องยื่นคำร้องปฏิเสธว่าไม่มีเงินใด ๆ ที่ผู้ร้องจะต้องชำระให้จำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดใน 30 วัน
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งอายัดของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่กรรม นางทัศนีย์โล่ห์สถาพรพิพิธ ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ผู้ร้องทำสัญญาจ้างเหมาให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ตามเอกสารหมาย ร.3โดยแบ่งงวดงานและชำระค่าก่อสร้างเป็น 8 งวด ได้ความตามที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบมาว่างานงวดที่ 8 นั้น เป็นงานที่นายวิรัชพัฒนรัชต์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง คงโต้แย้งกันว่านายวิรัชทำการก่อสร้างในฐานะที่เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือทำการก่อสร้างไปในฐานะที่ตนเป็นคู่สัญญากับผู้ร้องเองในงานงวดนี้ ข้อที่โจทก์อ้างว่านายวิรัชเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 นั้น ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาคงได้ความเฉพาะคำเบิกความของโจทก์เพียงว่า เมื่อไปทวงเงินค่าไม้ที่สถานที่ก่อสร้างพบนายวิรัชคุมงานอยู่ ข้อเท็จจริงส่วนนี้ได้ความตามที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบว่าจำเลยที่ 1 มีข้อขัดข้องในเรื่องการเงินมาตั้งแต่งวดการก่อสร้างงวดที่ 7 จนไม่มีเงินจ่ายค่าแรงงานคนงาน และได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ว่างานก่อสร้างใกล้จะเสร็จงวดที่ 8 ได้ไปทวงถามนายวิรัช แต่นายวิรัชไม่จ่ายให้ แสดงว่าโจทก์เห็นนายวิรัชควบคุมการก่อสร้างตามที่เบิกความข้างต้นนั้นเป็นการก่อสร้างในงานงวดที่ 8 ซึ่งงานงวดที่ 8 นี้ได้ความตามคำเบิกความของนายอาทร ต้องวัฒนา กรรมการผู้จัดการของบริษัทผู้ร้องว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างงานงวดที่ 7 ยังไม่เรียบร้อยโดยทำไม่สำเร็จ แต่ลงมือทำไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 2 หายตัวไปจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือถึงผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.4 ให้นายวิรัชเป็นผู้รับเหมาต่อ ผู้ร้องจึงได้ทำสัญญากับนายวิรัชตามเอกสารหมายร.5 ได้พิจารณาเอกสารทั้งสองฉบับแล้ว เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ร.4เป็นการที่จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาที่จะไม่ทำการก่อสร้างต่อไปเมื่อนายวิรัชมาทำสัญญากับผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.5 จึงเป็นเรื่องที่นายวิรัชทำสัญญาก่อสร้างงานงวดที่ 8 ตามสัญญาเดิมกับผู้ร้องใหม่และเป็นงานของนายวิรัชมิใช่งานของจำเลยที่ 1 สัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องจึงเลิกกันไป ส่วนความรับผิดตามสัญญาที่มีอยู่เดิมจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเมื่อพิจารณาถึงเหตุที่นายวิรัชต้องเข้ามาทำสัญญาก่อสร้างในงานงวดที่ 8 ต่อก็มีเหตุผลเพราะข้อเท็จจริงได้ความว่า นายวิรัชเป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับธนาคารซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานก่อสร้างของจำเลยที่ 1 กับผู้ร้อง ถ้าจำเลยที่ 1 ต้องผิดสัญญากับผู้ร้องซึ่งธนาคารผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดต่อผู้ร้องแล้ว นายวิรัชก็ต้องรับผิดต่อธนาคารตามสัญญาค้ำประกันด้วย ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายวิรัชจะเข้ามาทำการก่อสร้างในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 เพราะไม่มีเหตุผลใดที่นายวิรัชจะต้องมาลงทุนตามจำเลยที่ 1 โดยที่ตนเองไม่ได้อะไร ส่วนที่โจทก์อ้างว่าสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย ร.5กระทำโดยไม่สุจริตนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลใดที่ผู้ร้องจะต้องทำอย่างนั้น เพราะผู้ร้องจะไม่ได้อะไรขึ้นมา นอกจากจะต้องจ่ายเงินค่าก่อสร้างสำหรับงานงวดที่ 8 เป็นสองต่อ คือจ่ายให้นายวิรัชและจ่ายให้ตามหมายอายัดของโจทก์ นอกจากนี้ยังปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายอายัด เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 แล้วออกหมายอายัดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2528 และส่งหมายอายัดให้ผู้ร้องเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2529 แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านเมื่อวันที่25 ธันวาคม 2528 ก่อนรับหมายอายัดถึง 9 วัน แสดงว่าผู้ร้องได้ทราบถึงการออกหมายอายัดแล้ว ก่อนที่จะได้รับหมายอายัดซึ่งถ้าผู้ร้องมีเจตนาไม่สุจริตคิดจะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ผู้ร้องก็มีทางทำได้ดีกว่าที่จะกระทำการอย่างที่ปรากฏ ซึ่งในข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยให้เหตุผลไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นเหตุผลที่ถูกต้องตามความเป็นจริงจึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก เชื่อได้ว่านายวิรัชเข้าไปทำการก่อสร้างงานงวดที่ 8ในฐานะที่ตนเป็นผู้รับจ้างจากผู้ร้อง มิใช่ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 เงินค่าก่อสร้างสำหรับงานงวดที่ 8 ที่โจทก์ขออายัดนั้นจึงไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 จะมีสิทธิได้รับจากผู้ร้อง โจทก์จึงไม่อาจขออายัดเงินจำนวนดังกล่าวได้และที่โจทก์ฎีกามาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ตรงประเด็นนั้น โจทก์อ้างว่าประเด็นอยู่ที่ว่ามีเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 1 อยู่ที่ผู้ร้องหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าจ้างงานงวดที่ 8 ให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้นเห็นว่าเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1มีอยู่ที่ผู้ร้องก็คือเงินค่าก่อสร้างสำหรับงานงวดที่ 8 มิใช่ค่าจ้างในงานงวดอื่น ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าจ้างงานงวดที่ 8 ให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยในผลของประเด็นที่ว่ามีเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 1 อยู่ที่ผู้ร้องตามที่ขออายัดหรือไม่ อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่ว่ากันมาโดยตรง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share