คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6276/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจ้างโจทก์ให้ทำงานเป็นลูกจ้างพิเศษนอกอัตรากำลัง ตามปริมาณงานและกำลังเงินงบประมาณที่จะจัดจ้างเป็นคราว ๆ ไปโดยมีสัญญาจ้างกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดระยะเวลาของการจ้างและการต่อสัญญาการจ้างทุกครั้งไว้ชัดแจ้งแน่นอนแต่ละครั้งไม่เกิน 120 วัน แม้การที่จำเลยไม่ต่อสัญญาจ้างกับโจทก์ด้วยเหตุครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างและต้องลดอัตรากำลังลงเพราะหมดความจำเป็นก็ตาม แต่ระยะเวลาการจ้างที่จำเลยต่อสัญญากับโจทก์อีกรวม 2 ครั้งนั้น รวมแล้วเกินระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกจึงหาได้เข้าข้อยกเว้นตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 24,300 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นเป็นการจ้างที่มีลักษณะเป็นการครั้งคราว มิใช่จ้างเป็นพนักงานประจำ มีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้แน่นอนโดยแต่ละครั้งไม่เกิน 120 วันการไม่ต่อสัญญามิใช่เป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 24,300 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานเป็นลูกจ้างพิเศษนอกอัตรากำลัง ตามปริมาณงานและกำลังเงินงบประมาณที่จะจัดจ้างเป็นคราว ๆ ไป โดยมีสัญญาจ้างกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดระยะเวลาของการจ้างและการต่อสัญญาการจ้างทุกครั้งไว้ชัดแจ้งแน่นอนแต่ละครั้งไม่เกิน 120 วัน แม้การที่จำเลยไม่ต่อสัญญาจ้างกับโจทก์ด้วยเหตุครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างและต้องลดอัตรากำลังลงเพราะหมดความจำเป็นก็ตามแต่ระยะเวลาการจ้างที่จำเลยต่อสัญญากับโจทก์อีกรวม 2 ครั้งนั้นรวมแล้วเกินระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกจึงหาได้เข้าข้อยกเว้นตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534ข้อ 45 วรรคสาม ไม่
พิพากษายืน

Share