แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจะไม่มาศาลตามกำหนดนัดเพราะรถที่จำเลยที่ 1 ใช้เป็นพาหนะเดินทางมาศาลเกิดอุบัติเหตุอันเป็นเหตุสุดวิสัยมิอาจก้าวล่วงเสียได้ การที่ศาลว่าไม่มีเหตุสมควรจะไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่เห็นชอบด้วย เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่จงใจขาดนัดพิจารณา ศาลจะต้องไต่สวนและหากได้ความว่าจำเลยที่ 1ไม่จงใจขาดนัดพิจารณา ศาลจะต้องดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ ถือได้ว่าเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วว่า กรณีที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 นั้น มิใช่เพราะกรณีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนยากจนแต่เป็นเพราะจำเลยที่ 1ไม่มาตามกำหนดนัดอันเป็นการขาดนัดพิจารณา ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ไม่จงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่ หากเป็นความจริงก็ต้องดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1โดยมิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีฐานะเป็นโจทก์ตามฟ้องอุทธรณ์ขาดนัดพิจารณาและให้จำหน่ายคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความ จึงมิใช่คำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 แต่เป็นการสั่งสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ไม่มาศาลตามกำหนดนัด จึงเท่ากับศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนยากจนตามคำร้องขอ เป็นการยกคำร้องขอตามมาตรา 156 วรรคสาม ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิดำเนินการต่อไปได้แต่เฉพาะที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 156 วรรคสี่หรือวรรคห้าเท่านั้น หรือหากเห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประการใดก็ย่อมอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 223 ประกอบด้วยมาตรา 229 จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ไม่ ทั้งไม่ใช่กรณีขาดนัดตามมาตรา 202 ซึ่งจะขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา 207 ประกอบมาตรา 209
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ พร้อมกับยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้อง ในวันนัดไต่สวน วันที่ 21 มีนาคม 2533เวลา 13.30 นาฬิกา คงมีแต่ทนายโจทก์มาศาล ฝ่ายจำเลยที่ 1 ทราบวันนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 เสียค่าธรรมเนียมศาลภายใน 15 วัน หลังจากนั้น 2 วัน จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 มิได้จงใจไม่มาศาล กล่าวคือจำเลยที่ 1 เดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533 เวลา 20 นาฬิกาซึ่งปกติต้องถึงกรุงเทพมหานครเวลา 8 นาฬิกาของวันที่ 21 มีนาคม2533 แต่รถที่จำเลยที่ 1 เดินทางมาเกิดอุบัติเหตุกลางทางกว่าจะแก้ไขเสร็จก็ล่วงเลยเวลานัดของศาลแล้วโดยจำเลยที่ 1 เดินทางถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 20 นาฬิกา ของวันที่ 21 มีนาคม 2533ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 ใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1ไม่มีเจตนาที่จะไม่มาศาลตามกำหนดนัด เหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถมาศาลตามกำหนดนัดเพราะรถที่จำเลยที่ 1 ใช้เป็นพาหนะในการเดินทางมาศาลเกิดอุบัติเหตุอันเป็นเหตุสุดวิสัยมิอาจก้าวล่วงเสียได้การที่ศาลว่าไม่มีเหตุสมควรจะไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่เห็นชอบด้วย เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้นเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่จงใจขาดนัดพิจารณา ศาลจะต้องไต่สวนและหากได้ความว่าจำเลยที่ 1 ไม่จงใจขาดนัด ศาลจะต้องดำเนินการพิจารณาคดีใหม่นั้น พอถือได้ว่าเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วว่า กรณีที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 มิใช่เพราะกรณีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนยากจนแต่เป็นเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ไม่มาศาลตามกำหนดนัดอันเป็นการขาดนัดพิจารณา ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า จำเลยที่ 1 ไม่จงใจขาดนัดพิจารณาหรือไม่ หากเป็นความจริงก็ต้องดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ เห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นมิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีฐานะเป็นโจทก์ตามฟ้องอุทธรณ์ขาดนัดพิจารณาและให้จำหน่ายคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความจึงมิใช่คำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ไม่มาศาลตามกำหนดนัดจึงเท่ากับศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนยากจนตามคำร้องขอนั่นเอง อันเป็นการสั่งยกคำร้องขอของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156วรรคสาม ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะดำเนินการต่อไปได้แต่เฉพาะที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156วรรคสี่ หรือ วรรคห้าเท่านั้น หรือหากเห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประการใด จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223ประกอบด้วยมาตรา 229 จำเลยที่ 1 หามีอำนาจที่จะร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 ใหม่ไม่ ทั้งไม่ใช่กรณีการขาดนัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา202 ที่จำเลยที่ 1 จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ประกอบมาตรา 209
พิพากษายืน