แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อพิพาทคดีนี้เกิดขึ้นจากการขนส่งทางทะเลจากประเทศอิตาลีมายังประเทศไทย จึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ซึ่งตามมาตรา 3 ให้คำนิยามไว้ว่า ผู้ขนส่ง หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ คดีนี้ผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้าจำพวกไวน์ 1,200 กล่อง จากผู้ขาย ซึ่งอยู่ที่ประเทศอิตาลีแล้วผู้ซื้อได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้จัดการขนส่งสินค้าที่สั่งซื้อมาให้ตน โดยผู้ซื้อไม่ใช่ผู้ส่งของหรือผู้ส่งสินค้า การที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากับผู้ซื้อหรือผู้รับสินค้ารับจัดการขนสินค้าไวน์จากประเทศอิตาลีมาให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญารับขนทางทะเลและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งตามบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อจำเลยที่ 2 ให้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 รับขนสินค้ารายนี้อีกทอดหนึ่ง โดยจำเลยที่ 1 เพียงแต่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบและผู้ซื้อได้แจ้งไปยังผู้ขายว่าจำเลยที่ 3 จะไปรับขนสินค้าจากผู้ขายบรรทุกลงเรือเดินทะเลของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ร่วมทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวแม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่ง ประกอบกับใบตราส่งที่ออกโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็มิได้ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งแต่อย่างใด ส่วนการที่ผู้ซื้อต้องนำเงินค่าระวางมาชำระแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 1 จึงออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้ ก็เป็นวิธีการที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางแล้วจะได้รับชำระค่าระวางพาหนะจากผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเท่านั้น ทั้งการที่ข้อเท็จไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าระวางพาหนะให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อย่างไร หรือไม่ ยังไม่พอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งที่ได้ประกอบกิจการการร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ติดต่อจำเลยที่ 3 ให้รับขนส่งสินค้ารายนี้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าพิพาทไม่ว่าในทางใดอีก จึงไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เช่นกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับจัดการขนส่ง มิใช่ผู้ขนส่งนั้นชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 406,270 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 403,205 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 406,270 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 403,205 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มีนาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า บริษัทคอลด์เบค แม็คเกรเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ซื้อได้สั่งซื้อสินค้าไวน์ CAMPARI จำนวน 1,200 กล่อง จากบริษัทคัมพารี่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอส.เอ.เอ็ม. จำกัด ผู้ขายที่ประเทศอิตาลี ภายใต้เงื่อนไขราคา FOB เป็นเงิน 36,804 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้ซื้อได้เอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้แก่โจทก์เพื่อคุ้มครองความเสียหายหรือสูญหายระหว่างการขนส่ง ผู้ซื้อได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินการจัดการขนส่งสินค้าดังกล่าวจากเมืองท่าต้นทางประเทศอิตาลีมายังโรงงานของผู้ซื้อ โดยตกลงชำระค่าระวางการขนส่งให้แก่จำเลยที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นท่าเรือปลายทาง จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการ จำเลยที่ 2 ได้ติดต่อจำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ที่ประเทศอิตาลีให้ทำการขนส่งสินค้า จำเลยที่ 3 ไปติดต่อรับมอบสินค้าจากผู้ขายโดยจำเลยที่ 3 ออกใบตราส่งให้ผู้ขายไว้เป็นหลักฐาน จำเลยที่ 3 นำสินค้าไปส่งมอบให้จำเลยที่ 4 ทำการขนส่งลงเรือแมร์ฟีนิเซี่ยม โดยจำเลยที่ 4 ได้ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 3 และเมื่อสินค้าเดินทางมาถึงท่าเรือประเทศสิงคโปร์ ได้เปลี่ยนถ่ายลงเรือจ็อค ริคเมอร์ส เดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 แจ้งการมาถึงของสินค้าให้ผู้ซื้อทราบ ผู้ซื้อได้ติดต่อชำระค่าระวางขนส่งให้แก่จำเลยที่ 1 พร้อมกับเวนคืนใบตราส่ง จำเลยที่ 1 จึงออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อไปติดต่อขอรับสินค้าจากคลังสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพ และจำเลยที่ 1 ติดต่อบริษัทพีบีเอเยนซี่ส์ จำกัด ตัวแทนของจำเลยที่ 4 ให้ทำการเปิดตู้สินค้า นำสินค้าออกจากตู้ไปจัดเก็บไว้ในคลังสินค้าเพื่อทำการปิดอากรแสตมป์สุราก่อนที่จะมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อรับไป ปรากฏว่าเมื่อมีการเปิดตู้สินค้าพบว่าสินค้าสูญหายไปในระหว่างการขนส่ง 270 กล่อง คงเหลือ 930 กล่อง คิดเป็นความเสียหาย 403,205 บาท โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อเป็นเงินจำนวน 403,205 บาท เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้ารายนี้หรือไม่ เห็นว่า ข้อพิพาทคดีนี้เกิดขึ้นจากการขนส่งทางทะเลจากประเทศอิตาลีมายังประเทศไทย จึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ซึ่งตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คำนิยามไว้ว่า ผู้ขนส่ง หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ คดีนี้บริษัทคอลด์เบค แม็คเกรเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้าจำพวกไวน์ จำนวน 1,200 กล่อง จากบริษัทคัมพารี่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอส.เอ.เอ็ม. จำกัด ผู้ขายซึ่งอยู่ที่ประเทศอิตาลีแล้วผู้ซื้อได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้จัดการขนส่งสินค้าที่สั่งซื้อมาให้ตน โดยผู้ซื้อไม่ใช่ผู้ส่งของหรือผู้ส่งสินค้า การที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากับผู้ซื้อหรือผู้รับสินค้ารับจัดการขนสินค้าไวน์จากประเทศอิตาลีมาให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทยจึงถือไม่ได้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญารับขนของทางทะเลและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งตามบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อจำเลยที่ 2 ให้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 รับขนสินค้ารายนี้อีกทอดหนึ่ง โดยจำเลยที่ 1 เพียงแต่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบและผู้ซื้อได้แจ้งไปยังผู้ขายว่าจำเลยที่ 3 จะไปรับขนสินค้าจากผู้ขายบรรทุกลงเรือเดินทะเลของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ร่วมทำการขนส่งสินค้าดังกล่าว แม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่ง ประกอบกับใบตราส่งทั้งสองใบที่ออกโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็มิได้ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งแต่อย่างใด ส่วนการที่บริษัทคอลด์เบค แม็คเกรเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ซื้อ ต้องนำเงินค่าระวางมาชำระแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 1 จึงจะออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้ ก็เป็นวิธีการที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางแล้วจะได้รับชำระค่าระวางพาหนะจากผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเท่านั้น ทั้งการที่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าระวางพาหนะให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อย่างไร หรือไม่ ยังไม่พอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งที่ได้ประกอบกิจการร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ติดต่อจำเลยที่ 3 ให้รับขนส่งสินค้ารายนี้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าพิพาทไม่ว่าในทางใดอีก จึงไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เช่นกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับจัดการขนส่งมิใช่ผู้ขนส่งนั้นชอบแล้ว ทั้งเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างไร ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ