แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยอ้างว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการอ้างเหตุสุดวิสัยมาเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของผู้คัดค้านที่คณะอนุญาโตตุลาการยกขึ้นกล่าวอ้างในคำวินิจฉัยชี้ขาดไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ทั้งเอกสารที่คณะอนุญาโตตุลาการนำมาพิจารณาเป็นเอกสารที่ไม่อาจรับฟังได้ การบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง อันเป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานและเนื้อหาในประเด็นข้อพิพาทที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัย มิใช่การโต้แย้งตามกรณีในมาตรา 40 (1) (ก) ถึง (จ) แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามบทมาตราดังกล่าวได้
คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากมีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านว่า มีเหตุสุดวิสัยที่เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านส่งมอบงานล่าช้า จึงวินิจฉัยให้ผู้ร้องคืนค่าปรับให้แก่ผู้คัดค้านพร้อมด้วยดอกเบี้ย เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดว่ามีเหตุสุดวิสัยตามที่ตกลงกันในสัญญาที่เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านยังไม่อาจชำระหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงในสัญญา มิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม มาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่ามิได้มีเหตุสุดวิสัยดังที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัย การบังคับตามคำชี้ขาดจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นั้น จึงเป็นการเข้าไปวินิจฉัยเนื้อหาในประเด็นข้อพิพาทที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุญาโตตุลาการโดยเฉพาะ จึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2533 ผู้ร้องได้ทำสัญญาซื้อขายเครื่องฝึกบินจำลองจำนวน 3 เครื่อง พร้อมการติดตั้ง อะไหล่ เครื่องมือพิเศษ อุปกรณ์ทดสอบ และ Master Instruction Station กับผู้คัดค้าน ในราคารวมทั้งสิ้น 4,577,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้คัดค้านได้วางหลักประกันไว้ และตกลงจะต้องส่งมอบเครื่องฝึกบินจำลอง สิ่งของตามสัญญาและการติดตั้งพร้อมใช้งานให้แก่ผู้ร้องภายในกำหนดเวลาตามสัญญาเมื่อถึงกำหนดส่งมอบ ผู้คัดค้านได้นำเครื่องฝึกบินจำลองและ Master Instruction Station มาติดตั้งและขอส่งมอบให้แก่ผู้ร้อง แต่เนื่องจากเครื่องฝึกบินจำลองและ Master Instruction Station ไม่สามารถใช้งานได้ ผู้ร้องจึงยกเลิกสัญญาและริบหลักประกัน ผู้คัดค้านได้โต้แย้งโดยเสนอเป็นข้อพิพาทสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ สภาหอการค้าไทย ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2539 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านและผู้ร้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไปจนแล้วเสร็จ โดยให้เวลาผู้คัดค้านปฏิบัติและส่งมอบงานตามสัญญาให้แก่ผู้ร้องภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 นับแต่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด ผู้คัดค้านไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลเครื่องฝึกบินจำลองดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 18 มิถุนายน 2540 ซึ่งเหลือระยะเวลาส่งมอบอีกไม่ถึง 15 วัน ผู้คัดค้านจึงมีหนังสือแจ้งผู้ร้องว่าจะส่งเจ้าหน้าที่มาทำงาน เมื่อครบกำหนดเวลาส่งมอบผู้คัดค้านมิได้ส่งมอบให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้คัดค้านรีบดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาและคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งผู้ร้องว่า ความล่าช้าเกิดจากการขออนุญาตส่งออกและพนักงานของบริษัท United Parcel Service ในประเทศสหรัฐอเมริกาประท้วงหยุดงาน ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยอันเป็นเหตุยกเว้นค่าปรับตามสัญญา จึงขอขยายเวลาส่งมอบไป 5 เดือน และความล่าช้าในการส่งมอบมีเหตุมาจากการนำสิ่งของผ่านพิธีการศุลกากรประเทศไทยด้วย ต่อมาวันที่ 21 ตุลาคม 2540 ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งผู้คัดค้านว่า ระยะเวลาได้ล่วงเลยกำหนดการปฏิบัติตามสัญญาและคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว และมีค่าปรับเกินร้อยละ 10 ของราคาตามสัญญา ผู้ร้องจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาแก่ผู้คัดค้าน เว้นแต่ผู้คัดค้านยืนยันที่ต้องการจะดำเนินการให้แล้วเสร็จและยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านยังประสงค์จะทำงานตามสัญญาและยินยอมให้ผู้ร้องปรับตามจำนวนที่เห็นสมควรโดยไม่มีเงื่อนไข และจะติดตั้งเครื่องฝึกบินจำลองให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2540 ขอให้ผู้ร้องทำการตรวจรับงาน ต่อมาผู้ร้องได้ตรวจรับงานและทดสอบอุปกรณ์ถูกต้องแล้วจึงรับมอบเครื่องฝึกบินจำลองทั้ง 3 เครื่อง Master Instruction Station และสิ่งของอื่นตามสัญญา ผู้คัดค้านจึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระเงินที่ยังคงค้างอยู่ โดยผู้คัดค้านรับทราบแล้วว่าผู้ร้องจะใช้สิทธิหักเงินค่าปรับสำหรับความล่าช้า 153 วัน เป็นเงิน 700,281 ดอลลาร์สหรัฐ จึงเหลือเงินที่ผู้ร้องต้องชำระจำนวน 901,669 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาผู้ร้องได้จ่ายเงินค่าของงวดสุดท้าย เงินประกันการชำระเงินล่วงหน้า และคืนหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่ผู้คัดค้านรับไปแล้ว โดยแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบว่าผู้ร้องไม่สามารถงดการคิดค่าปรับจำนวนดังกล่าวได้เนื่องจากทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ผู้คัดค้านได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยังสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ขอเรียกค่าปรับที่ผู้ร้องใช้สิทธิหักไว้ โดยอ้างว่าเป็นการหักไว้โดยมิชอบ ผู้ร้องได้ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ผู้ร้องจึงมีสิทธิคิดค่าปรับ ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2549 คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากมีคำวินิจฉัยว่า มีเหตุสุดวิสัยเกี่ยวกับการยื่นขอและรับใบอนุญาตส่งออกจนไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้รวม 69 วัน จึงวินิจฉัยให้ผู้ร้องต้องคืนค่าปรับให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 315,813 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำคำชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้ร้องได้พิจารณาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว เห็นว่า เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การยอมรับหรือการบังคับคดีตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งเอกสารที่คณะอนุญาโตตุลาการนำมาพิจารณาว่ามีเหตุสุดวิสัย คือเอกสารหนังสือแจ้งเหตุการณ์ความล่าช้าในการขอใบอนุญาตส่งออกสินค้าอันเป็นเอกสารต่างประเทศ ซึ่งปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวมีเพียงคำรับรองของโนตารีปับลิกเท่านั้น ไม่มีคำรับรองของสถานกงสุลไทย ณ สหรัฐอเมริกา จึงไม่ใช่เอกสารที่รับฟังได้ การบังคับคดีตามคำชี้ขาดจึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในคดีหมายเลขดำที่ 34/2546 คดีหมายเลขแดงที่ 12/2549 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 315,813 ดอลลาร์สหรัฐ คืนแก่ผู้คัดค้านนั้น คณะอนุญาโตตุลาการได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามที่ทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบว่า มีเหตุสุดวิสัยเกี่ยวกับการยื่นขอและการรับใบอนุญาตส่งออกจากรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาอันเป็นข้อเท็จจริงที่ถือเป็นยุติตามที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยมา คำชี้ขาดจึงสามารถยอมรับและบังคับได้ ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 (1) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และผู้ร้องไม่สามารถอ้างว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 40 (2) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ทั้งไม่มีกรณีปรากฏต่อศาลว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดที่ให้ผู้ร้องชำระเงินคืน 315,813 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ผู้คัดค้าน จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ มูลแห่งหนี้ในคดีชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้า เมื่อได้มีคำวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิหักเงินไว้ผู้ร้องจึงต้องคืนเงินให้แก่ผู้คัดค้านตามข้อตกลง ในสัญญาซื้อขายผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงกันว่าหากมีข้อพิพาทใด ๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญานี้ให้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ 3 คน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้ทำเป็นภาษาอังกฤษและให้ถือเป็นที่สุด คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการจึงถือเป็นที่สุดตามข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันคู่กรณี ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธินำคดีนี้มาร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีได้ ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือมีข้อโต้แย้งใด ๆ ว่ากระบวนการพิจารณาต่าง ๆ ทั้งหลายในชั้นอนุญาโตตุลาการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ให้ความเป็นธรรมแก่คู่พิพาททั้งสองฝ่ายอย่างไร ขอให้ยกคำร้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ในข้อพิพาทคดีหมายเลขดำที่ 34/2546 คดีหมายเลขแดงที่ 12/2549 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการแรกว่า ตามคำร้องของผู้ร้องเข้าเหตุที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (1) หรือไม่ เห็นว่า ตามบทมาตราดังกล่าวได้กำหนดให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ในกรณีที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาด ดังกรณีต่อไปนี้คือ
(ก) คู่สัญญาตามสัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถ…
(ข) สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย…
(ค) ไม่มีการแจ้งให้คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดรู้ล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ…
(ง) คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ…
(จ) องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้…
แต่คดีนี้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยอ้างว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการอ้างเหตุสุดวิสัยมาเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของผู้คัดค้านที่คณะอนุญาโตตุลาการยกขึ้นกล่าวอ้างในคำวินิจฉัยชี้ขาดไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ทั้งเอกสารที่คณะอนุญาโตตุลาการนำมาพิจารณาเป็นเอกสารที่ไม่อาจรับฟังได้ การบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้อง อันเป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานและเนื้อหาในประเด็นข้อพิพาทที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัย มิใช่การโต้แย้งตามกรณีในมาตรา 40 (1) (ก) ถึง (จ) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แต่ประการใด กรณีไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามบทมาตราดังกล่าวได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการต่อไปว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ข) หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากมีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านว่า มีเหตุสุดวิสัยที่เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านส่งมอบงานล่าช้า จึงวินิจฉัยให้ผู้ร้องคืนค่าปรับให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 315,813 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำคำชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จ คำวินิจฉัยชี้ขาดนี้จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดว่ามีเหตุสุดวิสัยตามที่ตกลงกันในสัญญาที่เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านยังไม่อาจชำระหนี้ตามกำหนดเวลาในสัญญาได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงในสัญญา หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่ามิได้มีเหตุสุดวิสัยดังที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ดังนั้น การบังคับตามคำชี้ขาดจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เป็นการเข้าไปวินิจฉัยเนื้อหาในประเด็นข้อพิพาทที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุญาโตตุลาการโดยเฉพาะ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ