คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10848/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 64 มุ่งหมายที่จะควบคุมผู้ขับรถบนทางหลวงหรือทางสาธารณะ การที่จำเลยขับรถกระบะภายในบริเวณโรงเรียนบ้านคลองสุดซึ่งมิใช่บนทางหลวงหรือทางสาธารณะที่กำหนดให้รถสัญจรไปมา แม้จำเลยจะไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ การกระทำของจำเลยก็ไม่ต้องด้วยองค์ประกอบความผิดดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2545 เวลากลางวัน มีคนร้ายลักรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ – 7980 อุบลราชธานี ราคา 50,000 บาท ของนายชาญ ผู้เสียหายซึ่งจอดอยู่ในโรงเรียนบ้านคลองสุดอันเป็นสถานที่ราชการ ตามวันเวลาเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์คันนั้น โดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ จึงยึดเป็นของกลาง ทั้งนี้โดยจำเลยเป็นผู้ลักทรัพย์ หรือมิฉะนั้นก็ช่วยซ้อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไป หรือรับทรัพย์นั้นไว้จากคนร้าย โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357, 91 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 64
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 64 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ จำคุก 2 ปี ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ จำคุก 1 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ 16 เดือน และฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ 20 วัน รวมจำคุก 16 เดือน 20 วัน ยกฟ้องข้อหาอื่น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจำคุก 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามมาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถอีกกระทงหนึ่ง เป็นจำคุก 8 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยขับรถกระบะยี่ห้อมาสด้า สีขาว หมายเลขทะเบียน บ – 7980 อุบลราชธานี ตามสำเนารายการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจอดอยู่ภายในโรงเรียนบ้านคลองสุดไปเกิดอุบัติเหตุชนเสาซุ้มประตูโรงเรียนจนได้รับความเสียหายตามภาพถ่ายประกอบสำนวนการสอบสวนคดีที่ 214/2545 หมาย จ.2 ภาพที่ 2 และภาพถ่ายนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพหมาย จ. 4 ภาพที่ 2 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกมีว่า นายชาญผู้เสียหายเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถกระบะคันเกิดเหตุซึ่งมีอำนาจร้องทุกข์ในฐานะผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่มีบทกฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ก็มีเพียงเจตนารมณ์ที่จะมุ่งควบคุมปริมาณรถและวางระเบียบในการใช้รถ จึงกำหนดให้มีทะเบียนรถเพื่อจำแนกประเภทและปริมาณในการจัดเก็บภาษีรายปี รายการจดทะเบียนที่จัดทำขึ้นจึงมิใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในรถยนต์แต่ละคัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าตนซื้อรถกระบะคันเกิดเหตุมาจากเจ้าของเดิมตามรายการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.1 แล้ว โดยจำเลยมิได้มีพยานหลักฐานนำสืบหักล้างให้เห็นว่าผู้เสียหายมิใช่เจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์เหนือรถกระบะคันเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ซึ่งตนครอบครองอยู่ จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยผู้ประทุษร้ายต่อทรัพย์ของตน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยมีว่า จำเลยขับรถกระบะของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาทุจริตหรือไม่ ในเบื้องต้นนั้นแม้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายและจำเลยต้องตรงกันว่า จำเลยเป็นเพื่อนกับบุตรผู้เสียหายและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน แต่ผู้เสียหายก็ปฏิเสธว่ามิได้มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับจำเลยเป็นการส่วนตัว ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายจึงไม่ถึงขนาดที่จำเลยจะทึกทักหยิบฉวยทรัพย์สินของผู้เสียหายไปใช้ได้โดยพลการโดยผู้เสียหายไม่ถือสาหาความ จำเลยย่อมไม่อาจกล่าวอ้างว่ากระทำไปโดยถือวิสาสะได้ แม้รถกระบะของผู้เสียหายจะจอดอยู่โดยไม่ใส่กุญแจประตูรถทั้งสองด้าน และทิ้งกุญแจรถไว้ที่ช่องติดเครื่องยนต์ก็ตาม ข้อที่จำเลยเบิกความอ้างว่าเอ่ยปากขอกุญแจรถจากบุตรผู้เสียหายระหว่างเล่นฟุตบอลเพื่อทดลองขับรถกระบะคันนั้นก็ได้ความว่าบุตรผู้เสียหายไม่ตอบ แต่จำเลยกลับผละจากการเล่นฟุตบอลไปที่รถกระบะ เมื่อเห็นกุญแจรถเสียบคาอยู่จึงติดเครื่องยนต์ขับวนออกไปที่บริเวณในปากทางออกจนเกิดอุบัติเหตุพุ่งชนซุ้มประตูโรงเรียนเสียก่อนดังนี้ เห็นว่า หากจำเลยมีเพียงเจตนาจะทดลองขับรถกระบะคันนั้นตามที่นำสืบต่อสู้ ก็ควรจะขับรถไปภายในบริเวณโรงเรียนเท่านั้น เมื่อจำเลยขับรถมุ่งตรงไปยังบริเวณปากทางออกทันทีเช่นนั้น พฤติการณ์ย่อมแสดงแจ้งชัดอยู่ในทีว่าจำเลยตั้งใจจะขับรถกระบะคันนั้นออกไปนอกโรงเรียน กรรมจึงเป็นเครื่องแสดงเจตนาว่าแท้ที่จริงจำเลยประสงค์จะเอารถไปจากความครอบครองของผู้เสียหายโดยมีเจตนาทุจริต ต้องด้วยองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น
แต่ในส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 64 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ลงโทษจำเลยด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายที่จะควบคุมผู้ขับรถบนทางหลวงหรือทางสาธารณะโดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันเป็นสำคัญ จึงต้องมีการทดสอบสมรรถนะและความสามารถในการขับรถของบุคคลต่าง ๆ เสียก่อนที่จะออกใบอนุญาตขับรถ และกำหนดบทลงโทษผู้ขับรถบนทางหลวงหรือทางสาธารณะที่ไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ เมื่อเหตุคดีนี้เกิดขึ้นภายในบริเวณโรงเรียนบ้านคลองสุดซึ่งมิใช่บนทางหลวงหรือทางสาธารณะที่กำหนดให้รถสัญจรไปมา แม้จำเลยจะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถกระบะคันนั้นโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ การกระทำของจำเลยก็ไม่ต้องด้วยองค์ประกอบความผิดดังกล่าว ศาลล่างทั้งสองจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 64 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share