คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6265/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อาวุธปืนของกลางที่จำเลยที่ 1 ใช้ยิงรถเป็นเพียงอาวุธปืนแก๊ปยาวประจุปาก เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 ยิงในขณะที่โจทก์ร่วมที่ 1 ขับรถสวนมา หากอาวุธปืนของกลางมีอานุภาพร้ายแรงจริงน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงมาก แต่จากรายงานการตรวจพิสูจน์สภาพรถบรรทุก ปรากฏความเสียหายเพียงมีร่องรอยถูกยิงด้วยกระสุนปืน 8 รอย รอยยุบแต่ละรอยดังกล่าวไม่ลึกมาก คงมีแต่ครอบพลาสติกของกรอบกระจกหน้าข้างขวาด้านในเพียงแห่งเดียวที่มีรูทะลุค่อนข้างลึก และมีกระจกบังลมหน้ารถแตกจากกระสุนปืน ส่วนบุคคลที่นั่งอยู่ในรถไม่ได้รับอันตรายจากกระสุนปืนเลย แสดงว่าอาวุธปืนของกลางไม่มีอานุภาพร้ายแรงนัก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่ไม่สามารถบรรลุผลได้แน่แท้ เพราะเหตุอาวุธปืนซึ่งเป็นปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 81 วรรคแรก
การที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงรถบรรทุกดังกล่าวถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่อาจเล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นได้ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่ไม่สามารถบรรลุผลได้แน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานดังกล่าว ซึ่งเป็นความรับผิดทางอาญาตามความผิดที่เกิดขึ้นจากการใช้ตาม ป.อ. มาตรา 87 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 84, 91, 288, 289, 358, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายวิบูลย์ นายสมเกียรติ และนายอำพัน ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยให้เรียกนายวิบูลย์ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 นายสมเกียรติว่าโจทก์ร่วมที่ 2 และนายอำพันว่าโจทก์ร่วมที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 358, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิตฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุก 25 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน รวมลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 25 ปี 9 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 358 ประกอบมาตรา 84 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต และริบของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมทั้งสาม ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 โดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามมีผู้เสียหายที่ 6 เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพเดียวกับผู้เสียหายที่ 6 และเป็นคู่แข่งกัน จำเลยที่ 1 เคยเป็นพนักงานขายของผู้เสียหายที่ 6 แต่ลาออกไปเป็นพนักงานขายของจำเลยที่ 2 ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 ถึง 2 เดือน วันเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 6 และจำเลยที่ 2 เปิดร้านขายสินค้าที่ตลาดนัดจันทเขลม ร้านของจำเลยที่ 2 อยู่ตรงข้ามร้านของผู้เสียหายที่ 6 จำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 1 และนายปุ้ย ไม่ทราบนามสกุล เป็นพนักงานขาย หลังจากผู้เสียหายที่ 6 ปิดร้านเลิกขายแล้ว ผู้เสียหายที่ 6 ขับรถกระบะกลับก่อนคนอื่น ระหว่างทางผู้เสียหายที่ 6 ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากโจทก์ร่วมที่ 3 ว่ารถบรรทุกถูกขว้างจนกระจกบังลมหน้ารถแตกระหว่างเดินทางกลับ เหตุเกิดที่ถนนสายจันทเขลม – คลองพลู ผู้เสียหายที่ 6 สงสัยว่าจำเลยทั้งสองจะเป็นคนร้ายเนื่องจากวันเกิดเหตุ ระหว่างเวลา 17 นาฬิกา ถึงค่ำ จำเลยทั้งสองไม่อยู่ร้าน คงมีแต่นายปุ้ยอยู่ร้านเพียงคนเดียวซึ่งผิดปกติ ผู้เสียหายที่ 6 จึงไปพบมารดาของจำเลยที่ 1 ที่บ้านและสอบถามว่าจำเลยที่ 1 กลับมาบ้านหรือไม่ มารดาของจำเลยที่ 1 ตัวสั่นและถามว่าเกิดอะไรขึ้น วันรุ่งขึ้น ผู้เสียหายที่ 6 ใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดเศษกระจกที่แตกบริเวณหน้ารถพบเศษหัวกระสุนปืนตกอยู่ที่พื้นหน้ารถ 1 ชิ้น และฝังอยู่ที่ยางขอบกระจกหน้ารถ 1 ชิ้น มีรอยกระสุนปืนบริเวณหน้ารถ 7 ถึง 8 รอย ผู้เสียหายที่ 6 มั่นใจว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงรถบรรทุกจนกระจกบังลมหน้ารถแตกจึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ต่อมาระหว่างที่จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดจันทบุรี จำเลยที่ 1 เขียนจดหมายถึงผู้เสียหายที่ 6 รับสารภาพว่ากระทำผิดพร้อมบอกรายละเอียดการกระทำตามจดหมายและซองจดหมาย โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามยังมีพันตำรวจตรีประภาส พนักงานสอบสวน เป็นพยานเบิกความว่า ในชั้นแรกพยานสอบจำเลยที่ 1 ในฐานะพยาน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงรถบรรทุกของผู้เสียหายที่ 6 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้กระทำ หลังจากยิงแล้วจำเลยที่ 1 โยนอาวุธปืนทิ้งลงคลองบริเวณที่เกิดเหตุตามบันทึกคำให้การ จำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปงมหาอาวุธปืนจนได้เป็นของกลาง พยานส่งอาวุธปืนของกลางให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์แล้วตามรายงานการตรวจพิสูจน์ ต่อมาพยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ว่า ทำให้เสียทรัพย์และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การ เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 6 และโจทก์ร่วมทั้งสามเบิกความได้สอดคล้องต้องกันและสมเหตุสมผล ประกอบกับโจทก์ร่วมทั้งสามมีจดหมายของจำเลยที่ 1 ที่เขียนในขณะถูกคุมขังอยู่เรือนจำจังหวัดจันทบุรีถึงผู้เสียหายที่ 6 และซองจดหมาย มาเป็นพยานหลักฐานสนับสนุน ซึ่งจดหมายดังกล่าวมีใจความสำคัญว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนวางแผนทั้งหมด เวลา 17 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ใช้จำเลยที่ 1 ไปเอาอาวุธปืนที่บ้านของผู้มีชื่อมาไว้ข้างทางที่เกิดเหตุ เวลา 19 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ส่งจำเลยที่ 1 ไปที่เกิดเหตุเพื่อซุ่มยิง หลานของจำเลยที่ 2 เป็นคนโทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 1 ว่า รถบรรทุกของผู้เสียหายที่ 6 แล่นออกแล้ว เมื่อรถบรรทุกแล่นมาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงแล้ววิ่งหนีเข้าไปในสวนจากนั้นจึงโทรศัพท์แจ้งบุตรชายของจำเลยที่ 2 ให้ไปรับที่หน้าวัดแจ่มเวที บุตรชายของจำเลยที่ 2 ขับรถไปรับแล้วพาจำเลยที่ 1 ไปส่งที่อำเภอแก่งหางแมว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ขับรถไปรับจำเลยที่ 1 แล้วพาไปอยู่กับเพื่อนของจำเลยที่ 2 ที่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เช่นนี้เป็นการบ่งชี้โดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้วางแผนและใช้ให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด นอกจากนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามยังมีพนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานสนับสนุนว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่าใช้อาวุธปืนยิงรถบรรทุกของผู้เสียหายที่ 6 จริงโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้กระทำ ปัญหาที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในฎีกาว่า จดหมายที่จำเลยที่ 1 เขียนถึงผู้เสียหายที่ 6 เป็นคำซัดทอดซึ่งมีมูลเหตุจูงใจเพื่อเอาใจและขอเงินจากผู้เสียหายที่ 6 จึงไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า แม้จดหมายของจำเลยที่ 1 จะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดก็ตาม แต่คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ก็เป็นผลร้ายต่อจำเลยที่ 1 เองด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาและยังเบิกความยืนยันด้วยว่าใช้อาวุธปืนยิงรถบรรทุกโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้กระทำและศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ด้วย จดหมายดังกล่าวจึงไม่ใช่คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดที่จะทำให้ตนเองพ้นผิด เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุบาดหมางกับผู้เสียหายที่ 6 รวมทั้งโจทก์ร่วมทั้งสาม ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 อันจะเป็นสาเหตุให้ต้องใช้อาวุธปืนยิงรถบรรทุกที่โจทก์ร่วมที่ 1 ขับมาซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่บุคคลในรถบรรทุกแล้วย่อมไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะต้องใช้อาวุธปืนยิงรถบรรทุกหากไม่มีผู้ใช้ให้กระทำ อีกทั้งจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แม้จะมีเหตุโกรธเคืองจำเลยที่ 2 ที่ไม่ให้เงินตามที่บอกไว้ก่อนจะไปยิงดังที่เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้าน แต่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นสาเหตุให้ซัดทอดว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้กระทำผิดด้วยข้อหาอุกฉกรรจ์หากไม่ใช่เรื่องจริง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมทั้งสาม ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 โดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การตอนหนึ่งว่า จำเลยที่ 2 ไม่พอใจผู้เสียหายที่ 6 ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าจึงใช้ให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงรถบรรทุกของผู้เสียหายที่ 6 แต่ไม่ได้ใช้ให้ยิงใครจนถึงแก่ความตายเพียงต้องการให้รถบรรทุกได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุบาดหมางกับโจทก์ร่วมทั้งสามและผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งนั่งอยู่ในรถ เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมทั้งสามและผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 โดยไตร่ตรองไว้ก่อนดังที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 เองก็ไม่ได้มีเจตนาฆ่าบุคคลดังกล่าวโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ดี พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงใส่ด้านหน้ารถบรรทุกของผู้เสียหายที่ 6 ในขณะที่โจทก์ร่วมที่ 1 ขับรถมาตามถนนบริเวณที่เกิดเหตุ โดยมีโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 นั่งอยู่ด้านหน้าคู่กับโจทก์ร่วมที่ 1 มีผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 นั่งอยู่ด้านหลัง จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกบุคคลที่นั่งอยู่ในรถบรรทุกถึงแก่ความตายได้ เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เจตนาฆ่าโจทก์ร่วมทั้งสาม ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เมื่อกระสุนปืนไม่ถูกบุคคลดังกล่าวการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปอีกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 วรรคแรก หรือไม่ เห็นว่า แม้รายงานการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนของกลาง ระบุว่า อาวุธปืนของกลางสามารถใช้ยิงทำอันตรายต่อชีวิตและวัตถุได้ก็ตาม แต่อาวุธปืนของกลางที่จำเลยที่ 1 ใช้ยิงรถเป็นเพียงอาวุธปืนแก๊ปยาวประจุปาก เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 ยิงในขณะที่โจทก์ร่วมที่ 1 ขับรถสวนมาโดยได้ความจากโจทก์ร่วมที่ 1 เบิกความตอบโจทก์ว่าขณะเกิดเหตุขับรถมาด้วยความเร็วประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในสภาวการณ์การยิงปืนโดยที่มีความเร็วของรถที่แล่นสวนมาทบด้วยเช่นนี้ หากอาวุธปืนของกลางมีอานุภาพร้ายแรงจริงน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงมาก แต่จากรายงานการตรวจพิสูจน์สภาพรถบรรทุกปรากฏความเสียหายเพียงว่า มีร่องรอยถูกยิงด้วยกระสุนปืน 8 รอย ที่บริเวณหน้ารถเหนือกันชนหน้าด้านขวา มุมกรอบกระจกหน้าด้านล่าง เสายึดกระจกมองข้างด้านขวา กรอบกระจกหน้าด้านบน แต่ละรอยเป็นรอยบุบยุบขนาดประมาณ 0.5 x 0.5 เซนติเมตร ครอบพลาสติกของกรอบกระจกหน้าข้างขวาด้านในเป็นรูทะลุเข้าขนาดประมาณ 3.0 x 3.0 เซนติเมตร และกรอบกระจกประตูข้างขวาด้านในเป็นรอยบุบยุบขนาดประมาณ 0.9 x 1.2 เซนติเมตร รอยบุบยุบแต่ละรอยดังกล่าวไม่ลึกมาก คงมีแต่ครอบพลาสติกของกรอบกระจกหน้าข้างขวาด้านในเพียงแห่งเดียวที่มีรูทะลุค่อนข้างลึก และมีกระจกบังลมหน้ารถแตกจากกระสุนปืน ส่วนบุคคลที่นั่งอยู่ในรถไม่ได้รับอันตรายจากกระสุนปืนเลย แสดงว่าอาวุธปืนของกลางไม่มีอานุภาพร้ายแรงนัก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่ไม่สามารถบรรลุผลได้แน่แท้เพราะเหตุอาวุธปืนซึ่งเป็นปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 วรรคแรก สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้ให้ยิงใครจนถึงแก่ความตายเพียงแต่ต้องการให้รถบรรทุกของผู้เสียหายที่ 6 ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงรถบรรทุกดังกล่าวถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่อาจเล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นได้ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่ไม่สามารถบรรลุผลได้แน่แท้เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานดังกล่าวซึ่งเป็นความรับผิดทางอาญาตามความผิดที่เกิดขึ้นจากการใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 87 วรรคแรก แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81 วรรคแรก จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81 วรรคแรก มาตรา 84 และมาตรา 87 วรรคแรก จำคุกคนละ 4 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share