แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นตำรวจได้จับกุมผู้เสียหายในข้อหาเล่นการพนันสลากกินรวบ จำเลยที่ 1 เป็นตำรวจประจำสถานีเดียวกันแต่ไม่ได้ร่วมจับกุมและมิใช่พนักงานสอบสวนได้เรียกเงินจากผู้เสียหายกับพวกนำไปให้จำเลยที่ 2 เพื่อให้ปล่อยผู้เสียหายไป และจำเลยที่ 2ได้รับเงินจากฝ่ายผู้เสียหายแล้วได้ปล่อยตัวผู้เสียหายไปไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำโดยมิชอบต่อหน้าที่แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคดีที่จำเลยที่ 2 จับกุมผู้เสียหายมาโดยตรง จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่ ถือได้ว่าเป็นเพียงการสนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ของจำเลยที่ 2 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นรองสารวัตรสถานีตำรวจนครบาลลาดกระบัง จับผู้เสียหายดำเนินคดีในข้อหาเล่นการพนัน และลักเอาเงินจำนวนหนึ่งไป นอกจากนี้ ยังร่วมกับจำเลยที่ 1 เรียกเงินจากญาติผู้เสียหายเพื่อไม่ดำเนินคดีแล้วปล่อยตัวไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 143, 149, 157, 91 จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1, ที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 149จำคุกคนละ 6 ปี และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 334 จำคุกอีก6 เดือน จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ตามกฎหมายอาญามาตรา 334 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 หรือไม่”
และวินิจฉัยว่า “ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายนางทองใส บัวม่วง ภริยาผู้เสียหาย นางเนียน ชื่นชม มารดาของนางทองใส และสิบตำรวจตรีณรงค์ ชื่นใจ พยานโจทก์ ใจความส่วนใหญ่ตรงกันว่า หลังจากจำเลยที่ 2 กับพวกค้นร้านผู้เสียหายทั้งชั้นล่างและชั้นบนไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 2 ได้หยิบเอาถุงใส่เงินซึ่งวางอยู่ที่ตู้กาแฟหน้าร้านซึ่งมีเงินบรรจุอยู่ประมาณ500 บาทไป ต่อมาสิบตำรวจตรีณรงค์ค้นพบกระดาษโพยสลากกินรวบในกระบอกไม้ไผ่ที่ชายคากระต๊อบบริเวณหลังร้านจำเลยที่ 1 จึงเอาไปให้พลตำรวจวันชัยนำไปมอบให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 พูดว่าหลักฐานเท่านี้พอแล้วพร้อมกับชูกระดาษดังกล่าวและถุงใส่เงินของผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยที่ 2 ก็สั่งให้พวกคุมตัวผู้เสียหายไปสถานีตำรวจ โดยจำเลยที่ 2 กับพวกนั่งรถยนต์ของทางราชการล่วงหน้าไปก่อน ผู้เสียหายขับรถยนต์ของตนตามไปโดยมีจ่าสิบตำรวจไพรัตน์นั่งคุมตัวผู้เสียหายและมีนางเนียนกับนางทองใสนั่งไปด้วยระหว่างทางจ่าสิบตำรวจไพรัตน์พูดว่าจำลายมือที่เขียนในโพยสลากกินรวบได้ว่าเป็นลายมือของนางสำลี แจ่มจันทร์ หลานของนางเนียน ให้นางเนียนจัดการให้เรียบร้อย มิฉะนั้นจะต้องขึ้นศาลและพิสูจน์ลายมือ นางเนียนพูดว่าไม่รู้จะจัดการอย่างไรเพราะไม่รู้จักใคร รู้จักแต่จำเลยที่ 1 จ่าสิบตำรวจไพรัตน์บอกให้ไปพูดกับจำเลยที่ 1 เมื่อไปถึงสถานีตำรวจพบจำเลยที่ 1 เดินออกมาจากห้องทำงาน นางเนียน นางทองใสและผู้เสียหายจึงเข้าไปหาจำเลยที่ 1 พาเข้าไปในห้องทำงาน นางเนียนได้เล่าเรื่องให้ฟังจำเลยที่ 1 พูดว่าไหน ๆ ก็เป็นไปแล้วต้องเสียเงินให้เขาบ้างนางเนียนพูดว่าจะยอมเสียเงินสัก 2,000-3,000 บาท เพื่อให้เรื่องเสร็จไป จำเลยที่ 1 พูดว่า 2,000-3,000 บาท เป็นไปไม่ได้ นางเนียนถามว่าเท่าไร จำเลยที่ 1 ตอบว่าต้องเป็นแถว นางเนียนไม่เข้าใจจำเลยที่ 1 พูดว่า อย่างต่ำต้อง 10,000 บาท นางเนียนขอผัดไปหาเงินก่อน แต่จำเลยที่ 1 พูดว่าต้องเอามาให้ขณะนั้น นางเนียนกับนางทองใจจึงกลับไปบ้านและหาเงินมาได้ 8,000 บาท แล้วกลับไปที่สถานีตำรวจโดยมีนายชาญ แจ่มจันทร์ สามีของนางสำลีซึ่งทราบเรื่องไปด้วย เหตุการณ์ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป โจทก์มีนายชาญมาเบิกความยืนยันประกอบด้วย เมื่อไปถึงสถานีตำรวจนางเนียนบอกจำเลยที่ 1 ว่าหาเงินมาได้เพียง 8,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้คนไปตามจำเลยที่ 2 มาพูดกันสองต่อสองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2แล้วจำเลยที่ 2 ได้พยักหน้ากับพวกผู้เสียหาย นางเนียนจึงนำห่อเงินไปวางไว้ในห้องทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อหน้าจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 บอกให้นายชาญนำห่อเงินไปให้จำเลยที่ 2 นายชาญจึงนำห่อเงินไปวางใต้เครื่องพิมพ์ดีดบนโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 2ขณะจำเลยที่ 2 ยืนอยู่หน้าห้องแล้วบอกให้จำเลยที่ 2 ทราบ จากนั้นนายชาญก็กลับไปที่ห้องทำงานของจำเลยที่ 1 และบอกจำเลยที่ 1ว่าจัดการเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ออกมาบอกผู้เสียหายกับพวกให้กลับบ้านได้ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อนเกิดเหตุ โดยเฉพาะสิบตำรวจตรีณรงค์ซึ่งร่วมไปตรวจค้นร้านของผู้เสียหายเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสองด้วย จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความไปตามความจริงโดยมิได้ปรักปรำจำเลยทั้งสองยิ่งกว่านี้หลังจากนายประกอบ ชื่นชม บุตรของนางเนียนทราบเรื่องจากนางเนียนแล้วยังได้ไปร้องเรียนกล่าวโทษจำเลยทั้งสองที่กองบังคับการตำรวจนครบาลใต้ ทางกองบังคับการตำรวจนครบาลใต้ได้สอบปากคำของนายประกอบ ผู้เสียหาย นางทองใส นายชาญและพยานที่รู้เห็นเกี่ยวข้องไว้ด้วยจนกระทั่งผู้บังคับการตำรวจนครบาลใต้ได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองทั้งทางอาญาและทางวินัยอีกด้วย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.14 (รวม 35 แผ่น) ซึ่งหากเรื่องไม่เป็นความจริงแล้วฝ่ายผู้เสียหายคงไม่กล้ากระทำเช่นนั้น เพราะอาจถูกจำเลยทั้งสองฟ้องร้องทางอาญาในภายหลังได้ ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ 1ไปค้นร้านของผู้เสียหายโดยมีหมายค้น ได้แสดงหมายค้นต่อผู้เสียหายก่อนทำการค้น หลังจากตำรวจค้นไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายแล้วได้ทำบันทึกการตรวจค้นไว้ ผู้เสียหายไม่ยอมลงชื่อในบันทึกการตรวจค้นจำเลยที่ 2 มิได้จับกุมผู้เสียหาย และจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันเรียกทรัพย์สินจากฝ่ายผู้เสียหายนั้น จำเลยก็มิได้อ้างหมายค้นหรือบันทึกการตรวจค้นดังกล่าวมาเป็นพยานแต่อย่างใด ทั้งไม่มีเหตุผลอะไรที่จำเลยทั้งสองจะต้องไปขอโทษหรือปรับความเข้าใจกับฝ่ายผู้เสียหายภายหลังจากเกิดเหตุแล้ว ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองจึงรับฟังไม่ได้ พยานโจทก์มั่นคงเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยที่ 2ได้จับกุมผู้เสียหายไปในข้อหาเล่นการพนันสลากกินรวบ จำเลยที่ 1ได้เรียกเงินจากผู้เสียหายกับพวกนำไปให้จำเลยที่ 2 เพื่อให้ปล่อยตัวผู้เสียหายไปและจำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากฝ่ายผู้เสียหายแล้วได้ปล่อยตัวผู้เสียหายไปไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายอันเป็นการกระทำโดยมิชอบต่อหน้าที่ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวคดีที่จำเลยที่ 2 จับกุมผู้เสียหายมาโดยตรง จึงเป็นเรื่องปฏิบัตินอกหน้าที่ การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าเป็นเพียงการสนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149ของจำเลยที่ 2 เท่านั้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ประกอบด้วย มาตรา 86 ให้จำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์