คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยและ ย. บรรจุพระเครื่องพิพาทไว้ในเจดีย์บรรจุกระดูกของบรรพบุรุษซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพระอุโบสถวัดโจทก์ เพื่อให้ ลูกหลานเซ่นไหว้เมื่อย. ตาย จำเลยก็ยังไปเคารพกราบไหว้ ตามประเพณีชาวจีนตลอดมาไม่เคยสละละทิ้ง ดังนี้ พระเครื่องพิพาท ซึ่งบรรจุไว้ในเจดีย์ดังกล่าวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโจทก์เจาะ เจดีย์เอาพระเครื่องพิพาทไป จำเลยติดตามเอาคืนจากโจทก์ได้ ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองพระเครื่องคือ พระฝักไม้ดำ และพระฝักไม้ขาว ซึ่งเป็นพระประจำวัดโจทก์จำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้ร่วมกันข่มขู่พระครูประภาสธรรมาภรณ์เจ้าอาวาสวัดโจทก์ให้ส่งมอบพระเครื่องจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 เพื่อประโยชน์ร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสี่เพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ส่งมอบพระเครื่องจำนวนดังกล่าวพร้อมค่าเสียหาย จำเลยทั้งสี่ให้การว่าพระเครื่องพิพาทเดิมเป็นของนายเหยี่ยนกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีภรรยากันและเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้นำไปบรรจุไว้ในเจดีย์ซึ่งสร้างไว้ในบริเวณพระอุโบสถวัดโจทก์เพื่อบูชาร่วมกับกระดูกนางจู แซ่ตั้ง หาได้อุทิศพระเครื่องให้แก่วัดโจทก์ไม่ นายเหยี่ยนกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4ได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา พระครูประภาสธรรมาภรณ์ได้ร่วมกับพวกลักลอบเจาะเจดีย์และลักพระเครื่องดังกล่าวจำเลยที่ 1ทราบเรื่องจึงไปขอดู เมื่อเห็นว่าเป็นของนายเหยี่ยน และจำเลยที่ 2 จึงนำพระเครื่องดังกล่าวไปแจ้งความที่สถานีตำรวจและนำพระเครื่องไปเก็บไว้ที่ธนาคารด้วยความยินยอมของโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ส่งมอบพระเครื่องพิพาทคืนโจทก์พร้อมกับชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำขอเรื่องค่าเสียหายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์และจำเลยทั้งสี่นำสืบข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ว่าเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว นายเหยี่ยนบิดาจำเลยที่ 1ได้สร้างเจดีย์บรรจุกระดูกของนางจู แซ่ตั้ง ไว้ในบริเวณพระอุโบสถวัดโจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า นายเหยี่ยนบิดาจำเลยที่ 1 ได้บรรจุพระฝักไม้ดำ พระฝักไม้ขาว ที่พิพาทกันไว้ในเจดีย์ดังกล่าวหรือไม่ โจทก์มีนายเจียวชี้ แซ่ตัน เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้ก่อสร้างเจดีย์บรรจุกระดูกของนางจูเมื่อบรรจุกระดูกนางจูแล้ว พยานเป็นผู้ฉาบปูนไม่มีพระเครื่องอยู่ในเจดีย์ดังกล่าว ทางวัดโจทก์เป็นผู้ดูแลเจดีย์นั้น ฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เบิกความยืนยันว่า นายเหยี่ยนบิดาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 2 ได้นำพระฝักไม้ดำ พระฝักไม้ขาวมาจากวัดโจทก์ โดยขอบูชามาจากพระครูพุทธิสุนทร (พระครูหรุ่น)ประมาณ 500 องค์บรรจุไว้ในเจดีย์ด้วย นอกจากนี้จำเลยยังมีนายวาสิต กวยปาณิก บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นประชากรและนายสมพงษ์ พลไวย เจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอิสระเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่าพยานทั้งสองทราบเรื่องว่ากรุพระวัดโจทก์แตกจึงออกไปทำข่าวพระครูลำยองเจ้าอาวาสวัดโจทก์พาไปดูเจดีย์ข้างพระอุโบสถชี้ให้ดูว่าพระเครื่องบรรจุอยู่ที่ยอดเจดีย์นั้น พยานได้ถ่ายภาพลงหนังสือพิมพ์ไปปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ตามลำดับ เห็นว่า นายเจียวชี้พยานโจทก์เบิกความเลื่อนลอย และโจทก์ไม่มีพยานอื่นสนับสนุน พยานโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ ส่วนพยานจำเลยเบิกความสอดคล้องต้องกันมีน้ำหนักดีกว่าตรงกับรายละเอียดในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 9 มิถุนายน 2525 ซึ่งคณะผู้พิพากษาได้ไปเดินเผชิญสืบเจดีย์บรรจุกระดูกของนางจูพบเศษพระสีดำเรียกว่า พระฝักไม้ดำและพบเศษพระสีขาวเรียกว่าพระฝักไม้ขาวอยู่ในโพรงเจดีย์ และยังมีเศษพระชิ้นเล็กชิ้นน้อยติดแน่นอยู่กับปูนภายในโพรงนั้นอีกด้วยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเหยี่ยนบิดาจำเลยที่ 1 ได้บรรจุพระเครื่องไว้ในเจดีย์บรรจุกระดูกของนางจูจริง ปัญหาต่อไปมีว่าพระเครื่องนี้ยังเป็นของจำเลยหรือเป็นของวัดโจทก์ โจทก์มีนายจำลอง ด้วงสุวรรณ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เป็นพยานเบิกความว่าเจดีย์ที่ชาวบ้านสร้างไว้ในวัดโจทก์ ไม่มีใครมาดูแลพระครูเขมากรบริรักษ์ เจ้าคณะอำเภอบางระกำ พยานโจทก์เบิกความว่าญาติคนตายบางรายก็ไปไหว้เจดีย์บ้าง นายเจียวชี้พยานโจทก์เบิกความว่า ประเพณีของคนจีนจะนำกระดูกมาบรรจุในเจดีย์เพื่อให้ลูกหลานไปไหว้ทุกปี โดยทางวัดโจทก์เป็นผู้ดูแลเจดีย์เหล่านั้นส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 เบิกความว่า นายเหยี่ยนสร้างเจดีย์ไว้ใส่กระดูกนางจู เพื่อให้ลูกหลานกราบไหว้บูชาในวันเช็งเม้งตามประเพณีของชาวจีน ในวันเช็งเม้งได้มีญาติซึ่งเป็นลูกหลานไปเซ่นไหว้ทุกปี และดูแลบำรุงรักษาไม่เคยสละละทิ้ง พยานโจทก์และพยานจำเลยเบิกความเจือสมกันในข้อนี้ คดีฟังได้ว่า นายเหยี่ยนสร้างเจดีย์บรรจุกระดูกนางจูเพื่อให้ลูกหลานเซ่นไหว้ทุกปี เมื่อนายเหยี่ยนตายแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ยังไปเคารพกราบไหว้เจดีย์นางจู ตามประเพณีของชาวจีนตลอดมา ไม่เคยสละละทิ้ง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมเห็นว่า กรณีเช่นนี้พระเครื่องพิพาทซึ่งบรรจุไว้ในเจดีย์บรรจุกระดูกของนางจูยังเป็นของจำเลยทั้งสี่อยู่จำเลยทั้งสี่หาได้สละสิทธิครอบครองพระเครื่องพิพาทให้วัดโจทก์ไม่ดังนั้น จำเลยทั้งสี่จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพระเครื่องพิพาทดังกล่าว จำเลยทั้งสี่มีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งพระเครื่องพิพาทจากโจทก์ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และไม่ทำให้โจทก์เสียหาย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นส่วนฎีกาจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น”
ฯลฯ
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share