แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่เมื่อใดแต่การที่จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์โดยโจทก์ได้ทวงถามจนกระทั่งโจทก์ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยก็ยัง ไม่ยอมชำระให้นั้น ถือว่าจำเลยผิดนัดในการชำระค่าจ้างค้าง แก่โจทก์แล้ว จำเลยต้องรับผิดในดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ โจทก์ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ จำเลยไม่เคยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์รวมเป็นเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายจำนวน 145,000 บาท โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์จนครบถ้วนแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์จำนวน 115,000 บาท และต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2539 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยผิดนัดจ่ายค่าจ้างดังกล่าว พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน 115,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ข้อ 2.1 และ 2.2 สรุปใจความว่า จำเลยได้จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างตามฟ้องนั้น เห็นว่า เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ได้วินิจฉัยไปตามพยานหลักฐานในสำนวนแล้วว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์อยู่ แม้จำเลยจะอ้างว่าศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในสำนวนมาวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความ ก็เป็นเพียงการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายเท่านั้นจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์อีกประการหนึ่งตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.3 ว่าการที่โจทก์ไปร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2539 ถือไม่ได้ว่าเป็นการทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์ จำเลยจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างแล้ว จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดโดยมิได้ระบุว่าการทวงถามอันเป็นเหตุให้จำเลยผิดนัดได้กระทำเมื่อใดและในทางพิจารณาโจทก์ก็นำสืบในส่วนนี้แต่เพียงว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเรื่อยมาจนเป็นเหตุให้จำเลยให้โจทก์ออกจากงาน ต่อมาโจทก์ไปร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม2539 เมื่อทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชสอบข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามจำเลยเมื่อใด ส่วนที่โจทก์ไปร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชก็ไม่ได้กระทำต่อจำเลยเพื่อให้จำเลยชำระหนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว อย่างไรก็ตามแม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่เมื่อใดแต่การที่จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์โดยโจทก์ได้ทวงถามจนกระทั่งโจทก์ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยก็ยังไม่ยอมชำระให้นั้นถือว่าจำเลยผิดนัดในการชำระค่าจ้างค้างแก่โจทก์แล้วจำเลยต้องรับผิดในดอกเบี้ยแก่โจทก์ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ย นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2539 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ไปร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน