คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6252/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องคดีทั้งส่วนอาญาและส่วนแพ่งรวมกันมา แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะให้แยกคดีส่วนแพ่งออกจากคดีส่วนอาญาโจทก์จึงได้ถอนฟ้องคดีส่วนแพ่งแล้วยื่นฟ้องเข้ามาใหม่ วันฟ้องของคดีส่วนแพ่งที่ถอนฟ้องแล้วยื่นเข้ามาใหม่ยังคงเป็นวันฟ้องเดิมในคดีอาญาสินไหมนั่นเอง ไม่ถือว่าเป็นการยื่นฟ้องใหม่ แต่ถือว่าเป็นการแยกคดีส่วนแพ่งออกจากคดีส่วนอาญาตามคำสั่งศาลชั้นต้นการยื่นฟ้องมีเพียงคราวเดียวเท่านั้น จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และเมื่อมีการแยกคดีส่วนแพ่งออกไปแล้ว คดีอาญาสินไหมก็คงเหลือเพียงคดีส่วนอาญาซึ่งมีปัญหาเพียงว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับคดีส่วนแพ่งซึ่งถูกแยกออกไปนั้น มีปัญหาว่าจำเลยได้กระทำละเมิดโจทก์หรือไม่ และจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ประเด็นแห่งคดีแตกต่างกัน การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งจึงไม่ซ้ำกับส่วนอาญาตามมาตรา 144

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ120 ตารางวา อยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองชัยนาทจังหวัดชัยนาทซึ่งเดิมเป็นของนายนิด เกิดศิลป์ บิดาโจทก์ นายนิดปลูกบ้านเลขที่ 71 อยู่ในที่ดินดังกล่าว นายนิดทำประโยชน์ในที่ดินเต็มเนื้อที่โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ต่อมานายนิดยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ ครั้นปี 2533 นายนิดถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายนิดโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์โดยถือสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของต่อเนื่องมาจากนายนิด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 1 กับนายสมชาย เมนกุล ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 จ้างมาได้ตัดรั้วลวดหนามทางด้านทิศตะวันตกและเข้าไปในที่ดินของโจทก์แล้วถางต้นปอกระเจาของโจทก์เป็นแนวกว้างประมาณ 9 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตรปักหลักไม้เป็นเขตแล้วขึงลวดหนามกับปลูกต้นกล้วยเป็นแถวตามแนวหลักที่ปักไว้ ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 1 กับนายสมชายเข้าไปในที่ดินของโจทก์แล้วถางต้นปอกระเจาทางด้านทิศใต้และปักหลักขึงลวดหนามและปลูกต้นกล้วยเพิ่มทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ค่าต้นปอกระเจาเป็นเงิน 500 บาท ที่ดินที่จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปเนื้อที่ประมาณ 35 ตารางวา หากให้คนอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าปีละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ ชำระค่าต้นปอกระเจา 500 บาท และค่าเสียหายปีละ1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2537 จนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะเลิกยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า คดีก่อนซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น โจทก์ไม่สามารถสืบพยานให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของที่ดินของโจทก์ได้ ศาลพิพากษายกฟ้อง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1316/2538 โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างเป็นคู่ความเดียวกันในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1316/2538 ข้อหาและมูลคดีเดียวกันคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นอุทธรณ์ โจทก์นำคดีที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณามาฟ้องอีก เป็นฟ้องซ้อนฟ้องซ้ำขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ห้ามมิให้ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 200 บาท แก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายต้นปอกระเจา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2537 และวันที่ 14 มิถุนายน 2537จำเลยทั้งสองกับพวกเข้าไปในที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 35 ตารางวาซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์โดยโจทก์ได้ล้อมรั้วและปลูกต้นกล้วยไว้ จำเลยทั้งสองกับพวกได้รื้อถอนรั้วด้านทิศตะวันตกและด้านทิศใต้ออก แล้วทำรั้วขึ้นใหม่ โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญาสินไหมภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ถูกแย่งการครอบครองในข้อหาบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์และเรียกค่าเสียหาย ครั้นวันที่ 25 ตุลาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้ปรึกษากับโจทก์แล้วเห็นควรฟ้องคดีส่วนแพ่งเป็นคดีต่างหาก โจทก์จึงขอถอนฟ้องคดีส่วนแพ่งเพื่อนำไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้อง สำหรับคดีส่วนอาญาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1316/2538 โจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่งเมื่อวันที่ 29พฤศจิกายน 2538 มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีอาญาสินไหมหมายเลขแดงที่ 1316/2538 หรือไม่ แม้ปัญหานี้จำเลยทั้งสองจะให้การสู้คดีไว้แต่ในวันนัดชี้สองสถานจำเลยได้ขอสละข้อต่อสู้ดังกล่าวตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 2 เมษายน 2539 ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นเช่นเดียวกับปัญหาที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นฎีกาว่า การฟ้องของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีอาญาสินไหมหมายเลขแดงที่ 1316/2538 ซึ่งปัญหานี้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่ปัญหาทั้งสองนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ในปัญหาทั้งสองนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ในการยื่นฟ้องคดีอาญาสินไหมหมายเลขแดงที่ 1316/2538 โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีทั้งส่วนอาญาและส่วนแพ่งรวมกันมาเป็นคดีเดียวกัน แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะให้แยกคดีส่วนแพ่งออกจากคดีส่วนอาญา โจทก์จึงได้ถอนฟ้องคดีส่วนแพ่งแล้วยื่นฟ้องเข้ามาใหม่ วันฟ้องของคดีส่วนแพ่งที่ถอนฟ้องแล้วยื่นฟ้องเข้ามาใหม่ตามที่ศาลชั้นต้นให้แยกคดีส่วนแพ่งออกจากคดีส่วนอาญานั้นยังคงเป็นวันฟ้องเดิมในคดีอาญาสินไหมนั่นเอง การยื่นฟ้องคดีส่วนแพ่งดังกล่าวจึงมิได้ถือว่าเป็นการยื่นฟ้องใหม่ แต่ถือว่าเป็นเพียงการแยกคดีส่วนแพ่งออกจากคดีส่วนอาญาตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั่นเอง การยื่นฟ้องมีเพียงคราวเดียวเท่านั้น จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และเมื่อมีการแยกคดีส่วนแพ่งออกไปแล้ว คดีอาญาสินไหมก็คงเหลือเพียงคดีส่วนอาญาซึ่งมีปัญหาเพียงว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับคดีส่วนแพ่งซึ่งถูกแยกออกไปนั้น มีปัญหาว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำละเมิดโจทก์หรือไม่ และจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ประเด็นแห่งคดีแตกต่างกัน การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งจึงไม่ซ้ำกับการดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนอาญาตามมาตรา 144 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ห้ามมิให้ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share