คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6248/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่วินิจฉัยในประเด็นฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยแก้อุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โดยมิได้แก้อุทธรณ์ในปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจยกประเด็นเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัย เพราะไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ และโจทก์ฎีกาปัญหาข้อนี้มา โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่
จำเลยย่อมทราบดีว่าการขายทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท บ. ให้แก่บุคคลอื่น จะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่อาจบังคับเอาทรัพย์สินของบริษัท บ. มาชำระหนี้ได้ เป็นการจงใจทำโดยผิดกฎหมาย โจทก์ย่อมเสียหายทางทรัพย์สินแล้ว การกระทำผิดกฎหมายดังนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ผิดคือได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ การกำหนดจำนวนค่าเสียหายศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 400,000 บาท และโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 เมื่อฟังว่า การโอนทรัพย์สินของจำเลยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นการกระทำละเมิดจำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับแต่วันดังกล่าวตามฟ้องด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 5,509,150.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,236,449.96 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า บริษัทเบนซ์มาสเตอร์ กรุ๊ป จำกัด มีกรรมการ
ผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำนวน 4 คน โดยจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทด้วยคนหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 โจทก์นำรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ รุ่น 230 อี ของโจทก์ไปซ่อมแซมที่บริษัทเบนซ์มาสเตอร์ กรุ๊ป จำกัด แต่บริษัทดังกล่าวนำรถยนต์ของโจทก์ไปขายแก่บุคคลภายนอก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องบริษัทเบนซ์มาสเตอร์ กรุ๊ป จำกัด และกรรมการของบริษัทดังกล่าวรวมทั้งจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้บังคับจำเลยทั้งหมดคืนรถยนต์แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน และให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ วันที่ 17 มิถุนายน 2545 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทดังกล่าวคืนรถยนต์แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้เงิน 1,950,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2540 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 329,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ กับให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะคืนรถยนต์หรือชดใช้ราคาแทนแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยอื่น ๆ ตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2913/2545 คดีถึงที่สุดแล้ว แต่บริษัทดังกล่าวไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 บริษัทดังกล่าวขายกิจการทั้งหมดให้แก่บุคคลอื่นเป็นเงิน 800,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นเรื่องอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่วินิจฉัยในประเด็นฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยแก้อุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โดยมิได้แก้อุทธรณ์ในปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจยกประเด็นเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัย เพราะไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ และโจทก์ฎีกาปัญหาข้อนี้มาโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ เห็นว่า ตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2913/2541 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทเบนซ์มาสเตอร์ กรุ๊ป จำกัด คืนรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ รุ่น อี 230 ให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จและให้ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 329,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2541 จนกว่าจะคืนรถยนต์หรือชดใช้ราคาแทน จำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 4 ในดคีดังกล่าวด้วย แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องร่วมรับผิดกับบริษัทดังกล่าว แต่จำเลยเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเบนซ์มาสเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ย่อมทราบดีว่าบริษัทดังกล่าวมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ การที่บริษัทดังกล่าวยื่นแบบนำส่งงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนต่อกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยระบุว่าบริษัทดังกล่าวมีสินทรัพย์ 1,258,473.89 บาท แต่มีหนี้สินเป็นเจ้าหนี้การค้า ภาษีมูลค่าเพิ่มรอนำส่งและเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากกรรมการและลูกจ้างรวมเป็นเงิน 3,144,818.89 บาท โดยไม่ระบุว่าเป็นหนี้โจทก์ด้วย ทั้งยังระบุว่าบริษัทเบนซ์มาสเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ได้ทำการขายกิจการทั้งหมดให้แก่บริษัทแห่งหนึ่งจำนวน 800,000 บาท เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 และมีข้อความตอนท้ายระบุว่า งบการเงินนี้ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2544 โดยมีจำเลยลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการและประทับตราของบริษัทเบนซ์มาสเตอร์ กรุ๊ป จำกัด จำเลยย่อมทราบดีว่าการขายทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น จะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่อาจบังคับเอาทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวมาชำระหนี้ได้ เป็นการจงใจทำโดยผิดกฎหมาย โจทก์ย่อมเสียหายทางทรัพย์สินแล้วการกระทำผิดกฎหมายดังนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ผิดคือได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องรับผิดเพียงใด โจทก์มีนายทองหลาง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัทเบนซ์มาสเตอร์ กรุ๊ป จำกัด คืนรถยนต์แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 1,950,000 บาทและให้ใช้ค่าเสียหาย 329,333 บาท กับค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะคืนรถยนต์หรือชดใช้ราคาแทน ตามสำเนาคำพิพากษา จำเลยโอนทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 5,000,000 บาทเศษ ตามรายการคำนวณยอดหนี้ และโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนี้เป็นเงิน 92,097.50 บาท ตามบัญชีค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยให้การว่าจำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เห็นว่า ค่าเสียหายจำนวน 5,000,000 บาทเศษ เป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่บริษัทเบนซ์มาสเตอร์ กรุ๊ป จำกัด จะต้องชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดีแก่บริษัทดังกล่าว ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่า เมื่อโจทก์บังคับคดีแก่บริษัทดังกล่าวแล้วโจทก์จะได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามสำเนาแบบนำส่งงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน ระบุว่า บริษัทเบนซ์มาสเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ได้ขายกิจการให้แก่บุคคลอื่นเป็นเงิน 800,000 บาท และบริษัทดังกล่าวมีทรัพย์สินเพียง 1,258,473.89 บาท โดยมียอดขาดทุนสะสมยกไปเป็นเงิน 3,886,345 บาท แต่เมื่อพิเคราะห์ยอดขาดทุนสะสม ดังกล่าว ปรากฏว่ามียอดเจ้าหนี้เป็นเงินกู้ยืมจากกรรมการและลูกจ้างและเจ้าหนี้การค้าเป็นจำนวนรวม 3,142,566.60 บาทโดยจำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนงบดุลดังกล่าวว่าบริษัทเบนซ์มาสเตอร์ กรุ๊ป จำกัด มีเจ้าหนี้ดังกล่าวจริง และกรณีไม่อาจถือได้ว่าค่าเสียหายจำนวน 5,000,000 บาทเศษ ตามรายการคำนวณยอดหนี้ เป็นค่าเสียหายโดยตรงมาจากการทำละเมิดของจำเลยการกำหนดจำนวนค่าเสียหายศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 400,000 บาท โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไป เมื่อฟังว่า การโอนทรัพย์สินของจำเลยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นการกระทำละเมิด จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 นับแต่วันดังกล่าวตามฟ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท

Share