คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6245/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ได้ลงพิมพ์ข้อความที่จำเลยที่ 3 เขียนคอลัมน์สรุปได้ความว่าซ่าส์มากกว่าแค้น ที่ตั้งรัฐสภาทั่วบริเวณถือว่าเป็นเขตพระราชฐาน ผู้ใดจะพกอาวุธไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ดื่มสุราจนเกือบครองสติไม่อยู่ใช้ฝ่ามือตบหน้าช.วุฒิสมาชิก3ฉาดในข้อหาฐานใช้ปากไม่สบอารมณ์ในการประชุมวุฒิสภาสมัยก่อน ในวันนั้นพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ช. ได้พูดจาประหนึ่งว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่มีความรู้ความสามารถอะไรอย่างดีก็แค่หมาน้อยเห่าเครื่องบิน เมื่อคดีฟังได้ว่าโจทก์ได้ตบหน้าช. จริงโดยได้กระทำในเขตพระราชฐานและโจทก์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือได้ว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยไม่น่าจะก่อเหตุเช่นนั้น การที่จำเลยที่ 3 เขียนข้อความลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ดาวสยาม จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา จำเลยที่ 3 เป็นผู้เขียนคอลัมน์ “ลูกเล่นลูกจริง”ใช้นามปากกาว่า “วัลลี วัลภา” ในหนังสือพิมพ์ดาวสยามเมื่อวันที่24 กรกฎาคม 2530 หนังสือพิมพ์ดาวสยามได้ลงพิมพ์ข้อความที่จำเลยที่ 3 เขียนใช้นามปากกาว่า “วัลลี วัลภา” สรุปได้ความว่าซ่าส์มากกว่าแค้นที่ตั้งรัฐสภาทั่วบริเวณถือว่าเป็นเขตพระราชฐานผู้ใดจะพกอาวุธไม่ได้ กรณีของโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดพรรครวมไทยดื่มสุราจนเกือบครองสติไม่อยู่ใช้ฝ่ามือตบหน้านายชวลิต รุ่งแสง วุฒิสมาชิก 3 ฉาดในข้อหาฐานใช้ปากไม่สบอารมณ์ในการประชุมวุฒิสภาสมัยก่อน ในวันนั้นพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง นายชวลิตได้พูดจาประหนึ่งว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่มีความรู้ความสามารถอะไร อย่างดีก็แค่หมาน้อยเห่าเครื่องบิน และข้อความอื่นตามเอกสารหมาย จ.2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า ข้อความที่จำเลยที่ 3 เขียนลงพิมพ์ในเอกสารหมาย จ.2 เป็นละเมิดซึ่งจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์เบิกความว่า วันเกิดเหตุโจทก์ไม่ได้เมาสุราแล้วตบหน้านายชวลิต โจทก์เพียงแต่เข้าไปทักทายนายชวลิตด้วยเสียงดังทำให้ผู้ที่นั่งอยู่ที่โต๊ะอื่นในบริเวณนั้นไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นการทะเลาะวิวาทกันและเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์เดินเข้าไปตบไหล่นายชวลิตเพียงครั้งเดียวเป็นการทักทายโดยตบไม่แรงมาก เห็นว่า หากเป็นจริงดังที่โจทก์เบิกความแล้วก็ย่อมไม่มีเหตุที่เลขาธิการรัฐสภาต้องเรียกนายประหยัด ธนูมาศผู้จัดการสโมสรรัฐสภาไปสอบถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในสโมสรรัฐสภาในวันนั้นซึ่งนายประหยัดก็ได้ทำบันทึกรายงานให้เลขาธิการรัฐสภาทราบว่าโจทก์ได้ตบหน้านายชวลิตตามเอกสารหมาย ล.4 และได้ความจากคำเบิกความของนายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นว่า หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงข่าวว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม2530 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตบสั่งสอนวุฒิสมาชิก ซึ่งคู่กรณีคือโจทก์กับนายชวลิต รุ่งแสง และต่อมาก็มีรายงานเอกสารหมาย ล.4มาให้รับทราบ จึงเห็นได้ว่าน่าจะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแม้นายชวลิตพยานโจทก์จะเบิกความว่าโจทก์ไม่ได้ตบหน้าตนเพียงแต่โจทก์พูดเสียงดังเท่านั้น แต่ก็รับว่าวันเกิดเหตุโจทก์ดื่มสุรามาบ้างเล็กน้อย เห็นว่าคำเบิกความของนายชวลิตขาดเหตุผล กล่าวคือ หากโจทก์ไม่ได้ล่วงเกินนายชวลิตดังที่นายชวลิตเบิกความแล้วโจทก์ก็ไม่น่าจะต้องพูดกับนายชวลิตเมื่อพบกันหลังจากนั้นว่า “เราไม่มีอะไรกันนะ” การที่โจทก์กล่าวถ้อยคำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความกังวลในการกระทำของตน และโจทก์เบิกความรับว่าโจทก์ได้ตบไหล่นายชวลิตแต่ไม่แรงมาก ส่วนนายชวลิตไม่ได้เบิกความถึงเรื่องดังกล่าวเลย แสดงว่านายชวลิตปกปิดข้อเท็จจริงทำให้คำเบิกความไม่น่าเชื่อ เมื่อพิจารณาข้อนำสืบของฝ่ายจำเลยแล้วได้ความว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2530 ขณะที่จำเลยที่ 3นั่งรับประทานอาหารที่สโมสรรัฐสภาร่วมโต๊ะเดียวกันกับพันเอกณรงค์กิตติขจร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายวิเชียร แก้วเปล่ง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้ยินเสียงโจทก์ซึ่งนั่งอยู่ถัดไปอีก 5 โต๊ะ พูดจาก้าวร้าวเสียงดังมีลักษณะอาการคล้ายคนเมาสุรา และหลังจากนั้นโจทก์ได้ลุกเดินไปยังโต๊ะที่นายชวลิตนั่งพร้อมกับพูดต่อว่านายชวลิตด้วยเสียงดังว่า”มึงแน่นักหรือที่ด่า ส.ส. ว่าเป็นหมาเห่าเครื่องบิน” พร้อมกับใช้มือขวาตบหน้านายชวลิต 3 ครั้ง แล้วโจทก์เดินเข้าห้องน้ำไป ในวันต่อมาหนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นหนังสือพิมพ์บ้านเมืองลงข่าวตามเอกสารหมาย ล.1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข่าวตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งโจทก์ก็เบิกความรับว่าหนังสือพิมพ์บ้านเมืองและหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ลงข่าวว่าโจทก์ตบหน้านายชวลิตจริงและรับว่าโจทก์เคยดื่มสุราจนกระทั่งครองสติไม่อยู่ และบางครั้งเมื่อเมาสุราแล้วทำอะไรไปโดยขาดสติก็มีบ้างเห็นว่า พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์ได้ตบหน้านายชวลิตจริง พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวได้กระทำในเขตพระราชฐาน และโจทก์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือได้ว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยไม่น่าจะก่อเหตุเช่นนั้นขึ้นการที่จำเลยที่ 3 เขียนข้อความลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดาวสยามตามเอกสารหมาย จ.2 นั้น เห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share