คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6226/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทมีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิครอบครองที่ดินซึ่งระบุชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หากมีการตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจริง จำเลยก็น่าที่จะทำหลักฐานเป็นหนังสือว่าตนได้ตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทไว้แล้วเพื่อรักษาสิทธิของตนเองไว้ คงไม่ทำเพียงสัญญาเช่าอันเป็นการผูกมัดตนเองให้เสียหายผิดไปจากความเป็นจริง อีกทั้งเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมตำบล ม. ว่าจำเลยค้างชำระค่าเช่าที่ดินพิพาท จำเลยก็ไม่ได้ยกความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่จำเลยอ้างว่าได้ซื้อมาจากโจทก์ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำอุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการทำให้ไม่น่าเชื่อว่าได้มีการตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย และฟังได้ว่าจำเลยเช่าที่ดินพิพาทของโจทก์ ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ การที่โจทก์ได้บอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยไม่ยอมออกไปไม่อาจถือว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นยึดถือเพื่อตนไปยังโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แล้วได้ และจำเลยก็ไม่อาจยกเอาเรื่องการครอบครองของตนหลังจากนั้นขึ้นอ้างว่าเป็นการแย่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ได้ด้วย ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก. เลขที่ 438 เลขที่ดิน 37 และ น.ส.3 ก. เลขที่ 446 เลขที่ดิน 45 และ น.ส.3 ก. เลขที่ 885 เลขที่ดิน 150 กับให้จำเลยส่งมอบที่ดินแก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยและห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 89 ที่จำเลยปลูกสร้างในที่ดินโจทก์ หากจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนกับให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างจำนวน 44,100 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในอัตราปีละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะส่งมอบที่ดินและออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและให้พิพากษาว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงตามกฎหมาย และห้ามโจทก์และบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลงอีกต่อไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก. เลขที่ 438 เลขที่ดิน 37 และ น.ส.3 ก. เลขที่ 446 เลขที่ดิน 45 และ น.ส.3 ก. เลขที่ดิน (ที่ถูก เลขที่) 885 เลขที่ดิน 150 และให้จำเลยส่งมอบที่ดินแก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยและห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทและให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 89 ที่จำเลยปลูกสร้างในที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน กับให้จำเลยชำระค่าเช่าในส่วนที่ค้างชำระจำนวน 28,350 บาท กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในอัตราปีละ 6,300 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท กับให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ว่าถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,500 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นได้ว่าโจทก์มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2530 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยทำหนังสือเช่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงมีกำหนดระยะเวลา 3 ปีกับโจทก์ จำเลยไม่ชำระค่าเช่า โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลมะขามเฒ่าซึ่งต่อมาคณะกรรมการดังกล่าวมีมติให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นของโจทก์หรือจำเลย จำเลยนำสืบว่าเมื่อประมาณต้นปี 2531 จำเลยซื้อที่ดินพิพาททั้งสามแปลงจากนายสัญญา บิดาโจทก์ โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและยังไม่ได้ชำระราคาและต่อมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ นายสัญญา และนายพีระศักดิ์ พี่ชายโจทก์ไปพบจำเลยเพื่อตกลงเกี่ยวกับเงินค่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงซึ่งจำเลยยังไม่ได้ชำระ และจำเลยได้เขียนสัญญาเช่ามอบให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ขอ ส่วนโจทก์นำสืบว่า ปี 2530 จำเลยขอเช่าที่ดินพิพาททำเกษตรกรรมและค้างชำระค่าเช่า เดือนกุมภาพันธ์ 2533 โจทก์พร้อมกับนายสัญญาและนายพีระศักดิ์บิดาและพี่ชายโจทก์ไปพบจำเลยและทวงให้จำเลยชำระค่าเช่า จำเลยไม่มีเงินชำระและขอเช่าต่อโดยจำเลยเขียนสัญญาเช่าที่ดินพิพาทต่ออีก 3 ปี จำเลยค้างชำระค่าเช่า โจทก์ทวงถามโดยมีหนังสือทวงถาม จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลมะขามเฒ่า ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวเห็นว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าและมีมติให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาททั้งสามแปลง เห็นว่า ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงมีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิครอบครองที่ดินซึ่งระบุชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยจำเลยได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว และจำเลยซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัดชัยนาทมาแล้วย่อมมีประสบการณ์รู้ดีว่าการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวต้องกระทำกับเจ้าของหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของและต้องทำตามแบบให้ถูกต้อง นอกจากนี้เมื่อปี 2533 ที่โจทก์ นายสัญญา และนายพีระศักดิ์ไปพบจำเลย หากได้มีการตกลงซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสามแปลงกันไว้แล้วจริงดังที่จำเลยอ้าง จำเลยก็น่าที่จะทำหลักฐานเป็นหนังสือว่าตนได้ตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทไว้แล้วเพื่อรักษาสิทธิของตนเองไว้คงย่อมทำเป็นเพียงสัญญาเช่าอันเป็นการผูกมัดตนเองให้เสียหายผิดไปจากความเป็นจริงแน่ อีกทั้งเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลมะขามเฒ่าว่าจำเลยค้างชำระค่าเช่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลง จำเลยก็ไม่ได้ยกความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสามแปลงที่จำเลยอ้างว่าได้ซื้อมาจากโจทก์ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำอุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการด้วย ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นสาระสำคัญอันจะทำให้คณะกรรมการดังกล่าวยกคำร้องของโจทก์ได้ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าได้มีการตกลงซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสามแปลงระหว่างจำเลยกับโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย และฟังได้ว่าจำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ตามที่โจทก์นำสืบ ดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ การที่โจทก์ได้บอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยไม่ยอมออกไป ไม่อาจถือว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นยึดถือเพื่อตนไปยังโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แล้วได้ และจำเลยก็ไม่อาจยกเอาเรื่องการครอบครองของตนหลังจากนั้นขึ้นอ้างว่าเป็นการแย่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงของโจทก์ได้ด้วย ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงจึงเป็นของโจทก์ ส่วนฎีกาข้ออื่นๆ ของจำเลยไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความ 2,000 บาท แทนโจทก์

Share