แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 229 บัญญัติว่า การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาและคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นด้วย บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแก่การอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งในทุกกรณี จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เสียเฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องเสียในขณะยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ แต่เงินดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ครบถ้วนจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะยื่นฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาล ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ไปแล้วกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 160,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้คืนค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพราะเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ แต่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในการรับฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาภายในกำหนด กรณีถือได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จึงรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เฉพาะข้อกฎหมายในเรื่องอายุความแสดงให้เห็นว่า ศาลชั้นต้นมิได้สั่งรับฎีกาในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์เพราะเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา จึงเป็นการสั่งรับฎีกาที่ผิดหลงผิดระเบียบและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง โดยเห็นสมควรให้เพิกถอนคำสั่งรับฎีกาของศาลชั้นต้นดังกล่าวข้างต้นและมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ และเห็นสมควรวินิจฉัยคดีตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพราะเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 บัญญัติว่า การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น ซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นด้วย บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแก่การอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งในทุกกรณี จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เสียเฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องเสียในขณะยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ แต่เงินดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ครบถ้วนจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะยื่นฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาล ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ไปแล้วกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ