แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อทรัพย์ที่เช่าคือโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายทั้งหลัง สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 เมื่อทรัพย์ที่เช่าสูญหายหรือเสียหายไปโดยสิ้นเชิง จึงไม่สามารถที่จะส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าได้ ดังนั้น คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่า กระทำละเมิดเป็นเหตุให้โรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายถูกเพลิงไหม้ ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อปรากฏว่า คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่โจทก์ได้แต่งตั้งขึ้นได้ทำรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งแจ้งแก่ผู้ว่าการของโจทก์ระบุว่า ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในทางที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้และจะต้องรับผิดในทางแพ่ง แต่เห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่า จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าจะต้องส่งมอบโรงงานมาตรฐานที่เช่าจากโจทก์คืนในสภาพเรียบร้อยเมื่อคืนไม่ได้แล้วต้องชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี
เหตุเกิดเพลิงไหม้โรงงานมาตรฐานของโจทก์ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ การที่จำเลยไม่ดูแลให้ดีทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิด เว้นแต่ว่าจำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เมื่อมิใช่เหตุสุดวิสัยและมิได้เกิดเพราะความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย จำเลยจึงปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายอันเกิดแก่โรงงานของโจทก์จำนวน 2,773,220.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,564,828.02 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 จำเลยทำสัญญาเช่าโรงงานมาตรฐานในเขตอุตสาหกรรมส่งออกลาดกระบัง 2 หลัง เนื้อที่ 2,106 ตารางเมตร มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ถึง 31 ตุลาคม 2536 จำเลยได้ชำระเงิน 600,210 บาท ให้แก่โจทก์เป็นประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่าหรือแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ หากจำเลยมีหนี้ผูกพันต้องชำระให้แก่โจทก์ จำเลยยินยอมให้โจทก์หักเงินประกันชำระหนี้ได้หากชำระแล้วยังไม่พอก็ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้จนครบ โจทก์ได้ส่งมอบโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังให้แก่จำเลยแล้ว วันที่ 7 มีนาคม 2536 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงานมาตรฐานหลังที่ 2 เจ้าพนักงานของกองพิสูจน์หลักฐานได้ทำความเห็นว่า สาเหตุของเพลิงไหม้เกิดจากการอาร์คหรือสปาร์คของขั้วหลอดฟลูออเรสเซนต์กับขาหลอดของชุดหลอดฟลูออเรสเซนต์ทำให้เกิดการสะสมความร้อนจนพลาสติกขาหลอดหลอมละลายลุกติดเป็นเปลวไฟตกไปถูกกับวัตถุที่ไหม้ไฟได้ง่าย เช่น โฟมหรือกล่องกระดาษ ทำให้เกิดการลุกไหม้ขึ้น ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2536 เวลากลางวัน เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงานมาตรฐานหลังที่ 1 เจ้าพนักงานของกองพิสูจน์หลักฐานทำความเห็นว่าสาเหตุเพลิงไหม้น่าจะเกิดจากการสะสมความร้อนในตัวพัดลมอันเนื่องมาจากความชำรุดตามสภาพการใช้งาน หรือเปิดใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ถึงจุดติดไฟแล้วตกลงไปลุกไหม้ทรัพย์สินใกล้เคียงจนได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่ง คณะกรรมการดังกล่าวสรุปความเห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่า จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ผู้แทนโจทก์ได้รับทราบรายงานดังกล่าววันที่ 19 กรกฎาคม 2537 และมีคำสั่งแจ้งให้จำเลยทราบพร้อมนำเงินประกันที่จำเลยวางไว้มาหักเป็นค่าเสียหาย
มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ในเบื้องต้นต้องวินิจฉัยก่อนว่า โรงงานมาตรฐานของโจทก์ทั้งสองหลังได้รับความเสียหายเพียงใด โจทก์มีนายอำพล และนายอัมพร เบิกความว่าโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง เห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากสอดคล้องกับภาพถ่าย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ซึ่งจำเลยเองก็ยอมรับว่าได้ย้ายที่ทำการไปอยู่แห่งใหม่แล้ว เมื่อทรัพย์ที่เช่าคือโรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังได้รับความเสียหายทั้งหลัง สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 เมื่อทรัพย์เช่าสูญหายหรือเสียหายไปโดยสิ้นเชิง จึงไม่สามารถที่จะส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าได้ ดังนั้น คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่า กระทำละเมิดเป็นเหตุให้โรงงานมาตรฐานทั้งสองหลังของโจทก์ได้รับความเสียหายถูกเพลิงไหม้ ดังนั้น โจทก์จะต้องฟ้องผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่โจทก์ได้แต่งตั้งขึ้นได้ทำรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งแจ้งแก่ผู้ว่าการของโจทก์ระบุว่าไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในทางที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้และจะต้องรับผิดในทางแพ่ง แต่เห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่า จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าจะต้องส่งมอบโรงงานมาตรฐานที่เช่าจากโจทก์คืนในสภาพเรียบร้อย เมื่อคืนไม่ได้แล้วต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี โจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
เนื่องจากศาลชั้นต้นได้สืบพยานคู่ความมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปโดยไม่ย้อนสำนวน มีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์มีร้อยตำรวจเอกกิตติ ซึ่งรับราชการอยู่กองพิสูจน์หลักฐานเบิกความว่า เหตุที่เกิดไฟไหม้โรงงานมาตรฐานของโจทก์หลังที่ 2 สืบเนื่องจากการหลอมละลายของขั้วหลอดไฟหรือการสปาร์ค สาเหตุมาจากการใส่ขั้วของหลอดดังกล่าวไม่แน่นหรือเกิดจากการใช้งานเป็นเวลานานทำให้พลาสติกที่ขั้วหลอดนั้นหลอมละลายเมื่อตกลงมาถูกวัสดุหรือกล่องกระดาษก็จะเกิดไฟลุกไหม้ และพันตำรวจตรีประสิทธิ์ รับราชการที่กองพิสูจน์หลักฐานเบิกความว่า เหตุที่เกิดเพลิงไหม้โรงงานมาตรฐานหลังที่ 1 ของโจทก์เกิดจากความร้อนสะสมที่ตัวมอเตอร์พัดลมจากการเปิดพัดลมไว้นาน ๆ หรือความชำรุดโดยสภาพของพัดลม เมื่อมีความร้อนมากๆ ทำให้ทรัพย์สินบริเวณใกล้เคียงเกิดไฟลุกไหม้ขึ้น เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์หลักฐานด้านการเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งได้เบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ ส่วนจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เหตุเกิดเพลิงไหม้เป็นไปดังที่พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความ เมื่อจำเลยเป็นครอบครองไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ การที่จำเลยไม่ดูแลให้ดีทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิด เว้นแต่ว่าจำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุดังกล่าวมิใช่เหตุสุดวิสัยมิได้เกิดเพราะความผิดของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย จำเลยจึงปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่
มีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด โจทก์มีนางราตรีหัวหน้างานบัญชีบริหารซึ่งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้างานรักษาการบัญชีทรัพย์สินได้ตีราคาอาคารโรงงานมาตรฐานของโจทก์โดยอาศัยรายงานทรัพย์สิน ปี 2535 และ 2536 ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินโดยหักราคาซากและหักค่าเสื่อมราคาของแต่ละปีตามกฎกระทรวงการคลังแล้ว โจทก์ได้รับความเสียหาย 3,165,038.02 บาท ตามรายละเอียดการคำนวณมูลค่าโรงงานมาตรฐาน แต่เนื่องจากหลังจากไฟไหม้แล้วยังมีวัสดุที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้คือโครงสร้างซึ่งเป็นเหล็ก ซึ่งเดิมโจทก์ได้ประเมินราคาซากไว้ 410,549.02 บาท แต่ภายหลังกล่าวอ้างว่าไม่มีมูลค่า เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงสร้างเหล็กดังกล่าวสามารถนำไปขายได้ราคา จึงเห็นควรกำหนดราคาซากเท่ากับที่โจทก์เคยตีราคาไว้ เมื่อหักจากเงินประกันที่จำเลยมอบไว้แก่โจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดเป็นเงิน 2,154,279 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่สัญญาเช่าเลิกต่อกัน แต่โจทก์ขอนับแต่วันที่ 9 มกราคม 2540 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลัง จึงเห็นควรกำหนดให้ตามขอ”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 2,154,279 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท