คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3380/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องก็หมายถึงยกฟ้องของโจทก์ร่วมด้วยเมื่อโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีของโจทก์ร่วมจึงยุติลง ฉะนั้น แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาได้ โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิฎีกา ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358,362, 365, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางลำใย สมพยัคฆ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องก็หมายถึงยกฟ้องของโจทก์ร่วมด้วย เมื่อโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีของโจทก์ร่วมจึงยุติลง โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาได้ก็ตามฎีกาของโจทก์ร่วมก็เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ร่วม

Share