แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงได้ความว่ารถยนต์ของจำเลยทุกคันที่จอดไว้ที่ซอยหน้าโรงงานของจำเลยในช่วงเวลากลางวัน เมื่อเลิกงานแล้วจะต้องนำเข้าไปเก็บในโรงงาน ธ.ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยได้รับมอบกุญแจรถจาก ส. ยามประตูโรงงานผู้มีหน้าที่เก็บรักษากุญแจรถยนต์ของจำเลย ในช่วงเวลาที่โรงงานจำเลยเลิกงานตามปกติแล้ว และ ธ. ขับรถคันดังกล่าวซึ่งจอดอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงงานนำไปที่ด้านข้างโรงงาน โดยมิได้ขับไปที่อื่นใดหรือขับไปเที่ยวเล่นเพราะในช่วงนั้นเป็นเวลาที่จะต้องนำรถไปเก็บไว้ภายในโรงงาน ดังนี้ เมื่อ ธ. ขับรถไปชนโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บสาหัส ย่อมถือ ได้ว่า ธ. ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลย จำเลยจึงต้อง ร่วมรับผิดด้วย โดยปกติการนำผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาลย่อมจะส่งไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุด เพื่อให้มีการรักษาพยาบาลรวดเร็วและทันท่วงที เมื่อโรงพยาบาลเอกชนอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุด และขณะเกิดเหตุมีผู้อื่นนำโจทก์ที่ 2 ซึ่งอยู่ในอาการช็อคส่งโรงพยาบาลดังกล่าวโดยไม่มีทางเลือกโรงพยาบาลอื่นใดได้อีก เช่นนี้ เมื่อโจทก์ทั้งสองได้เสียค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลนั้นไปเพียงใดค่ารักษาพยาบาลจำนวนนั้นจึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงซึ่งโจทก์ทั้งสองชอบที่จะได้รับชดใช้คืน เต็มจำนวน แม้ค่ารักษาพยาบาลจะแพงกว่าโรงพยาบาลของรัฐก็ตาม ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาทำละเมิด เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นตัวเงิน หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดจึงเป็นหนี้เงิน ถือได้ว่าจำเลยผิดนัดมาแต่เวลาทำละเมิด จำต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี อันเป็นไปโดยผลแห่งกฎหมาย โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบในเรื่องดอกเบี้ยอีก
อัตราค่าทนายความตามตาราง 6 ท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดให้ศาลพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้น ตามอัตราขั้นต่ำและขั้นสูงแห่งทุนทรัพย์ เมื่อศาลเห็นว่าคดีมีข้อยุ่งยากต้องใช้เวลามาก ทนายความทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติงานนานและใช้เวลามิใช่น้อย และคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะเต็มตามฟ้อง ในทุนทรัพย์ 700,000 บาท และกำหนดค่าทนายความในอัตรา ร้อยละ 1 ซึ่งต่ำกว่าอัตราขั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่นับว่า สูงเกินสมควร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์แลนด์โรเวอร์และเป็นนายจ้างของนายธวัช ขาลเรือง ผู้ขับขี่รถคันดังกล่าวขณะเกิดเหตุนายธวัช ขาลเรืองได้ขับรถยนต์ไปตามทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง จากที่จอดรถข้างถนน เพื่อนำไปเก็บไว้ในโรงงานของจำเลย โดยเลี้ยวรถด้วยความเร็วสูง ทำให้รถออกนอกเส้นทางพุ่งเข้าชนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเดินอยู่ในซอยข้างโรงงานของจำเลยอย่างแรงจนกระดูกหัวเหน่าและกระดูกเชิงกรานหักทิ่มลำไส้ทะลุกระเพาะปัสสาวะและเส้นเลือดใหญ่แตกโลหิตตกในช่องท้องมาก ต้องเข้ารักษาตัวและผ่าตัดในโรงพยาบาลทันที เสียค่ารักษาพยาบาล 113,975 บาท ค่าจ้างคนเฝ้า 60 วัน วันละ 200 บาท ค่าเช่าโทรทัศน์ 3,360 บาท ค่าอาหารสำหรับคนเฝ้าและโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 15,000 บาท ค่าจ้างเหมารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 กับญาติมาเยี่ยมดูอาการโจทก์ที่ 2 รวม 11 เที่ยว และภายหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว โจทก์ที่ 2 มาให้แพทย์ตรวจรักษาเป็นครั้งคราวอีก 8 เที่ยว เที่ยวละ 900 บาท รวมเป็นเงิน 17,100 บาท ค่ารักษาพยาบาล 775 บาท ต่อมาเข้ารับการผ่าตัดอีกเป็นเงิน 14,150 บาท การผ่าตัดกระดูกหัวเหน่าและเชิงกรานนั้นเอาเหล็กดามกระดูกไว้ ซึ่งต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อเอาเหล็กออกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 50,000 บาท และโจทก์ที่ 2 จะต้องทุพพลภาพขาและร่างกายพิการไม่สมบูรณ์ไม่สามารถเดินหรือทำสิ่งใด ๆ ได้ตามปกติเสียบุคคลิกต้องหยุดเรียนและซ้ำชั้นเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและความก้าวหน้าในชีวิต ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้ 500,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 726,360 บาท แต่โจทก์ทั้งสองขอเรียกร้องเพียง 700,000 บาท ขอให้จำเลยชำระเงิน 700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า นายธวัช ขาลเรือง เป็นเพียงเสมียนประจำห้องธุรการไม่มีหน้าที่ขับรถของจำเลย จำเลยไม่เคยใช้ให้นายธวัชขับรถมาก่อน วันเกิดเหตุนายธวัชสมคบกับนายสมศักดิ์ ทวีโภค ขโมยลูกกุญแจรถนำไปขับโดยพลการมิใช่ทำงานในทางการจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริงโจทก์ไม่เคยทวงถามก่อนฟ้อง จำเลยยังไม่ผิดนัดจึงไม่ต้องรับผิดในค่าดอกเบี้ยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองและให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 675,000 บาทแก่โจทก์ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาแรกที่จำเลยฎีกาว่า ก่อนเกิดเหตุรถคันที่เกิดเหตุจอดอยู่ในโรงงาน นายธวัชแอบเอาลูกกุญแจรถไปจากนายสมศักดิ์ นำรถไปขับโดยพลการมิใช่ขับในทางการจ้างนั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายบุญนาค ภู่มณี พยานจำเลยว่าที่เกิดเหตุอยู่ในซอยใกล้ประตูทางเข้าโรงงานของจำเลย และจำเลยอ้างคำให้การของนายสิทธิพงศ์ ศิริวรรณ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 13864/2522 ของศาลชั้นต้นเอกสารหมาย ล.11 เป็นพยานได้ความว่า นายสุทธิพงษ์เป็นผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทจำเลย ได้รับมอบหมายจากผู้จัดการบริษัทจำเลยให้สอบสวนเรื่องราวที่นายธวัช ขาลเรือง เอารถไปขับจนเกิดเหตุจากการสอบสวนได้ความว่านายสมศักดิ์ยามประตูซึ่งมีหน้าที่เก็บลูกกุญแจรถยนต์ของบริษัทจำเลยได้มอบกุญแจรถคันเกิดเหตุให้แก่นยธวัชไป แตกต่างจากคำเบิกความของนายบุญนาค ภู่มณี ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทจำเลยในเรื่องนี้จำเลยมิได้นำนายสมศักดิ์ยามประตูซึ่งรู้เห็นโดยตรงเข้าสืบ ส่วนนายบุญนาคก็เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทจำเลย และปรากฎว่าพยานเป็นเพียงหัวหน้ายาม มิได้รับมอบหมายให้สืบสวนเรื่องนี้ รู้เห็นตามที่เบิกความมาได้อย่างไรก็ไม่ปรากฏ คำของนายบุญนาคที่ว่านายธวัชลักลอบเอาลูกกุญแจไปจากนายสมศักดิ์จึงไม่มีน้ำหนัก เชื่อว่านายสมศักดิ์มอบลูกกุญแจรถคันเกิดเหตุให้แก่นายธวัชดังที่ปรากฏตามคำนายสิทธิพงษ์ ในเอกสารหมาย ล.11 มิใช่นายธวัชลักลอบเอาลูกกุญแจรถไปจากนายสมศักดิ์ ปัญหาต่อไปว่า ที่นายสมศักดิ์มอบลูกกุญแจให้แก่นายธวัชไปเพื่ออะไรนั้น ได้ความตามคำนายสุทธิพงษ์ในเอกสารดังกล่าวว่า รถยนต์ของจำเลยทุกคันจอดที่ซอยหน้าโรงงานของจำเลยในช่วงกลางวันเลิกงานแล้วนำไปเก็บในโรงงาน นายบุญนาคเบิกความว่า โดยปกติโรงงานจำเลยเลิกงานเวลา 17 นาฬิกา แสดงว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุโรงงานจำเลยเลิกงานตามปกติแล้ว และเป็นเวลาที่รถยนต์ทุกคันของจำเลยจะต้องถูกนำไปเก็บไว้ในโรงงานจำเลย ประกอบกับตามคำของนายสุทธิพงษ์ที่ว่า จากการสอบสวนทราบว่านายธวัชขับรถซึ่งจอดอยู่ฝั่งตรงข้ามโรงงานนำไปที่ด้านข้างโรงงาน จึงเห็นได้ว่านายธวัชมิได้ขับรถไปในที่อื่นใดหรือขับไปเที่ยวเล่น เพราะในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาที่จะต้องนำรถกลับไปเก็บไว้ภายในโรงงาน และจุดที่นายธวัชขับจากที่จอดรถเดิมไปยังที่เกิดเหตุก็ไม่ห่างไกลกัน เมื่อนายสมศักดิ์มอบลูกกุญแจให้นายธวัชเองเช่นนี้แม้ทางพิจารณาจะไม่ปรากฏว่านายสมศักดิ์และนายธวัชได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจในบริษัทจำเลยให้ทำเช่นนั้นก็ตาม แต่คำสั่งในกรณีนี้จะมีหรือไม่ เป็นเรื่องภายในบริษัทจำเลยอยู่ในความรู้เห็นของฝ่ายจำเลยโดยเฉพาะ เป็นการยากที่ฝ่ายโจทก์จะล่วงรู้ได้ จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าที่นายสมศักดิ์มอบลูกกุญแจรถให้นายธวัชไป และที่นายธวัชขับรถไปจนเกิดเหตุเป็นการกระทำโดยพลการของบุคคลทั้งสอง หาใช่กระทำไปตามคำสั่งหรือการมอบหมายของจำเลยไม่ เมื่อนายธวัชเป็นลูกจ้างของจำเลย ได้รับมอบกุญแจจากผู้รักษากุญแจ แล้วขับรถจากที่จอดรถเดิมจนมาเกิดเหตุย่อมถือได้ว่านายธวัชขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยแล้ว จำเลยปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่
ปัญหาต่อไปเกี่ยวกับค่าเสียหาย จำเลยฎีกาโต้แย้งในเรื่องค่ารักษาพยาบาลว่าศาลควรกำหนดให้จำเลยรับผิดเพียงเท่าอัตราค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐซึ่งต่ำกว่าของเอกชนราว 1 เท่านั้น เห็นว่า กรณีนี้เหตุเกิดในบริเวณใกล้เคียงบริษัทและโรงงานจำเลย ขณะโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บมีบุคคลอื่นที่พบเห็นเหตุการณ์เป็นผู้นำโจทก์ที่ 2 ไปส่งโรงพยาบาล มิใช่คนของฝ่ายโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้นำส่งโดยปกติการนำผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาลย่อมจะส่งไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุด เพื่อให้มีการรักษาพยาบาลรวดเร็วและทันท่วงที กรณีนี้ที่เกิดเหตุไปยังโรงพยาบาลแพทย์ปัญญาน่าจะเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด เพราะโรงงานจำเลยและโรงพยาบาลแพทย์ปัญญาตั้งอยู่ใกล้ถนนที่เชื่อมต่อกัน ขณะนั้นโจทก์ที่ 2 อยู่ในอาการช็อค (ตามคำของนายปัญญา ส่งสัมพันธ์ พยานจำเลย) ย่อมไม่อยู่ในสภาพที่จะคิดและช่วยตนเองได้ เมื่อถึงโรงพยาบาลแพทย์ปัญญาแล้ว แพทย์ต้องผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตในทันที ต่อจากนั้นต้องนอนบนเปลที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษมิให้โจทก์ที่ 2 กระดิกตัวเป็นแรมเดือน โจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีทางเลือกโรงพยาบาลอื่นใดได้อีกเมื่อโจทก์ทั้งสองได้เสียค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลแพทย์ปัญญาไปเพียงใดค่ารักษาพยาบาลจำนวนจึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงซึ่งโจทก์ทั้งสองชอบที่จะได้รับชดใช้คืนเต็มจำนวน แม้ค่ารักษาพยาบาลจะแพงกว่าโรงพยาบาลของรัฐก็ตาม
ส่วนค่าเสียหายจากการทุพพลภาพและเสียความสมบูรณ์ในการทำงาน ซึ่งจำเลยฎีกาโต้แย้งว่า ขณะนี้โจทก์ที่ 2 หายเป็นปกติทั้งร่างกายและจิตใจแล้วจำเลยจึงควรรับผิดต่อโจทก์เพียง 100,000 บาท นั้น เห็นว่าได้ความตามคำเบิกความนายปัญญา ส่งสัมพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา พยานจำเลยว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บถึงขนาดกระดูกเชิงกรานแตกบิดเบี้ยว ลำไส้ใหญ่และกระเพาะปัสสาวะแตก ปัสสาวะและโลหิตไหลออกเต็มท้อง มีอาการช็อค แพทย์ต้องทำการผ่าตัดทันที มิฉะนั้นโจทก์ที่ 2 จะต้องตาย หลังจากผ่าตัดแล้วต้องนอนในเปลยกก้นให้สูงขึ้น กระดิกตัวไม่ได้เป็นแรมเดือน เมื่อหายแล้วไม่สามารถเดินได้ตามปกติโจทก์ที่ 2 ต้องทนทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บ และต้องนอนอยู่บนกองปัสสาวะและอุจจาระของตนเองเป็นเวลานาน มีอาการทางจิตและประสาทมาก (ตามคำเบิกความของนายปัญญา ส่งสัมพันธ์ พยานจำเลย) ย่อมเสียความสามารถในการทำงานและเสียบุคลิก โจทก์ที่ 2 อายุยังน้อยอยู่ระหว่างการศึกษา ต้องพักการเรียนและเรียนซ้ำชั้นเสียเวลาและเสียโอกาสที่จะประกอบการงานเยี่ยงปกติชนทั้งหลายเป็นความเสียหายแก่ร่างกายและอนามัยอันมิใช่ตัวเงิน ซึ่งจำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ที่ 2 อีกส่วนหนึ่งด้วย ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว
สำหรับฎีกาจำเลยในเรื่องดอกเบี้ยนั้น เห็นว่าในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาทำละเมิด เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นตัวเงินหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดกรณีจึงเป็นหนี้เงิน ถือได้ว่าจำเลยผิดนัดมาแต่เวลาละเมิด จำต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี อันเป็นไปโดยผลแห่งกฎหมายโดยโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบในเรื่องดอกเบี้ยอีก
ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยฎีกาโต้แย้งจำนวนค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาว่าสูงเกินไปนั้น เห็นว่า อัตราค่าทนายความตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดให้ศาลพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้น ตามอัตราขั้นต่ำขั้นสูงแห่งทุนทรัพย์ (หรือไม่มีทุนทรัพย์) ดังที่ระบุไว้ กรณีนี้ทุนทรัพย์แห่งคดี 700,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้คดีเกือบทุกข้อหาในฟ้องก่อนศาลชั้นต้นรับคำให้การจำเลย ก็ได้มีการไต่สวนคำขอยื่นคำให้การจำเลยถึง 3 นัด ในชั้นสืบพยาน จำเลยนำพยานเข้าสืบ 4 นัด และโจทก์นำพยานเขาสืบ 5 นัด การสืบพยานแต่ละนัดคู่ความแต่ละฝ่ายต่างซักค้านพยานของอีกฝ่าย และระยะเวลานับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องคือวันที่ 26พฤษภาคม 2523 จนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีคือวันที่ 30 มิถุนายน 2534 รวมเวลาปีเศษนับว่าคดีนี้ยุ่งยากต้องใช้เวลามาก ทนายความทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติงานนานและใช้เวลามิใช่น้อย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะเต็มตามฟ้องในทุนทรัพย์ 700,000 บาท และกำหนดค่าทนายความในอัตราร้อยละ 1 ซึ่งต่ำกว่าอัตราขั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่นับว่าสูงเกินสมควร
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง