แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 54 ไม่ได้กล่าวถึงเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม และเมื่อพิจารณาบทนิยามคำว่า เงินสะสม ตามมาตรา 3 วรรคแปด ที่ให้ความหมายว่า เงินที่สมาชิกสะสมเข้ากองทุนตาม พ.ร.บ. นี้ แสดงว่าเงินสะสมเป็นเงินของสมาชิก ยิ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 39 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ เห็นได้ว่า เงินสะสมนี้บทมาตราดังกล่าวให้ส่วนราชการหักตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงจากเงินเดือนที่สมาชิกผู้นั้นได้รับ เงินสะสมจึงเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนของสมาชิก เมื่อกระทรวงคมนาคมลงโทษไล่จำเลยออกจากราชการโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550 จำเลยจึงต้องคืนเงินเดือนสำหรับการทำงานวันที่ 30 กันยายน 2550 ให้แก่ส่วนราชการเจ้าสังกัดคือ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ผู้จ่ายเงินเดือนให้จำเลยจึงมีสิทธิเรียกเงินเดือนของวันดังกล่าวเต็มจำนวนก่อนมีการหักเงินสะสม โจทก์ไม่ใช่ส่วนราชการเจ้าสังกัดผู้จ่ายเงินเดือนให้จำเลย และ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิโจทก์ไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนเงินสะสมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนจำเลยและไม่มีสิทธิเรียกคืนผลประโยชน์ของเงินสะสมด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 512,900.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 485,908.93 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 485,813.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 4,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 485,861.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 จำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม จำเลยสมัครเป็นสมาชิกประเภทสะสมกับโจทก์ ต่อมาจำเลยได้สิ้นสุดสมาชิกภาพ เนื่องจากออกจากราชการด้วยเหตุเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 จำเลยยื่นคำขอรับเงินจากโจทก์ โจทก์จ่ายคืนเงินสมาชิกแก่จำเลยคือ เงินสะสมเป็นต้นเงิน 130,534 บาท ผลประโยชน์ 57,525.44 บาท รวม 188,059.44 บาท เงินสมทบเป็นต้นเงิน 130,534 บาท ผลประโยชน์ 57,525.44 บาท รวม 188,059.44 บาท เงินชดเชยเป็นต้นเงิน 87,015 บาท ผลประโยชน์ 38,344.66 บาท รวม 125,359.66 บาท เงินประเดิม 153,356 บาท ผลประโยชน์ 207,098.01 บาท รวม 360,454.01 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 861,932.55 บาท โดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเลขที่ 026 – 232572 – 5 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นหน่วยราชการต้นสังกัดของจำเลยว่า จำเลยถูกลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการกรณีกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ และฐานกระทำการอันได้ชื่อเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550 ตามสำเนาคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 178/2551 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2551 คดียุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่จำเลยไม่อุทธรณ์โต้แย้งว่า จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวรวมเป็นเงิน 485,813.67 บาท ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 54 และคดียุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่โจทก์และจำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อจำเลยถูกไล่ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550 รัฐบาลไม่มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบของวันดังกล่าว จำนวน 47 บาท และผลประโยชน์ 0.63 บาท โจทก์จ่ายไปโดยสำคัญผิดจึงเรียกคืนได้ด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า เมื่อจำเลยถูกไล่ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550 จำเลยจะต้องคืนเงินสะสมของวันดังกล่าวจำนวน 47 บาท และผลประโยชน์จากเงินสะสมจำนวน 0.63 บาท รวมเป็นเงิน 47.63 บาท แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเงินสะสมและผลประโยชน์คืน ไม่อาจพิจารณาจากนิยามของคำว่า “เงินสะสม” ตามมาตรา 3 วรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 เพียงอย่างเดียว ต้องพิจารณาประกอบมาตรา 39 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ของพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ไม่มีสิทธิรับเงินเดือนในวันที่ 30 กันยายน 2550 ส่วนราชการเจ้าสังกัดไม่ต้องหักเงินสะสมจากเงินเดือนของวันดังกล่าวที่จำเลยไม่มีสิทธิได้รับ จำเลยจึงต้องคืนเงินสะสมและผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 54 คงบัญญัติเพียงว่า สมาชิกซึ่งถูกไล่ออกจากราชการเนื่องจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของตนเอง ผู้นั้นหรือทายาทไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว บทบัญญัตินี้ไม่ได้กล่าวถึงเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม เมื่อพิจารณาบทนิยามคำว่า เงินสะสม ตามมาตรา 3 วรรคแปด ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ความหมายว่า เงินที่สมาชิกสะสมเข้ากองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ แสดงว่าเงินสะสมเป็นเงินของสมาชิก ยิ่งเมื่อนำมาตรา 39 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ของบทกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์อ้างในชั้นฎีกามาพิจารณาประกอบด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่า เงินสะสมนี้บทมาตราดังกล่าวให้ส่วนราชการหักตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงจากเงินเดือนที่สมาชิกผู้นั้นได้รับ ดังนั้น เงินสะสมจึงเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนของสมาชิก เมื่อกระทรวงคมนาคมมีคำสั่งที่ 178/2551 ลงโทษไล่จำเลยออกจากราชการเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550 จำเลยจึงต้องคืนเงินเดือนสำหรับการทำงานวันที่ 30 กันยายน 2550 ให้แก่ส่วนราชการเจ้าสังกัด คือ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ผู้จ่ายเงินเดือนให้แก่จำเลยจึงมีสิทธิเรียกเงินเดือนของวันดังกล่าว คืนจากจำเลยเต็มจำนวนก่อนมีการหักเงินสะสม โจทก์ไม่ใช่ส่วนราชการเจ้าสังกัดผู้จ่ายเงินเดือนให้จำเลย และพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 54 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิโจทก์ไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนเงินสะสมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนผลประโยชน์ของเงินสะสมด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ