คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5870/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ก. ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 ตามหนังสือแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท ก. เป็นลูกหนี้ของจำเลยโดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 บริษัท ก. ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโครงการ ค. ที่มีต่อบริษัท ค. ให้แก่จำเลยตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งบริษัทดังกล่าวชำระเงินให้แก่จำเลยไม่ตรงตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยจึงยื่นฟ้องบริษัท ค. ต่อศาลและเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท ค. ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสำเนาคำพิพากษา ต่อมาบริษัท ก. ถูกพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัท ก. ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในมูลหนี้ที่มีอยู่ตามสัญญากู้ยืมเงิน ขายลดตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด ทรัสต์รีซีท และจำนอง ตามสำเนาคำขอรับชำระหนี้และสัญญาจำนอง ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2546 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ค. เด็ดขาด ตามสำเนาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์แนวหน้าฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2546 และลงประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2546 ตามสำเนาประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สำเนาประกาศหนังสือพิมพ์และราชกิจจานุเบกษาซึ่งจำเลยไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ค. ปัญหาว่าการที่จำเลยไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินของบริษัท ค. เป็นการละเมิดต่อกองทรัพย์สินของบริษัท ก. จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องข้อ 2 ระบุว่าการโอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัท ก. จำกัด มีต่อบริษัท ค. ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการประกันหนี้ต่าง ๆ ของบริษัท ก. ที่มีต่อจำเลย ซึ่งหากจำเลยได้รับชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องต่ำกว่าหนี้สิน บริษัท ก. ยังคงต้องรับผิดในส่วนที่ขาดต่อโจทก์ตามสัญญาข้อ 8 ทั้งยังต้องรับผิดในมูลหนี้เดิมตามสัญญาข้อ 9 ภาระหนี้ที่บริษัท ก. จะต้องรับผิดต่อจำเลยจึงเป็นไปตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งเกิดจากความสมัครใจของบริษัท ค. ที่จะตกลงผูกพันเช่นนั้น เมื่อทั้งบริษัท ค. และบริษัท ก. ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2493 มาตรา 91 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทุกคน ส่วนจำเลยจะยื่นคำขอรับชำระหนี้คนใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้คนใดก็เป็นสิทธิของจำเลย และเมื่อไม่ปรากฏว่าการงดเว้นไม่ขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทเป็นการงดเว้นการใช้สิทธิซึ่งมีความประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ก. การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดต่อกองทรัพย์สินของบริษัท ก. จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้รับผิดค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 152,912,663.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 141,729,614.38 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทกรีไทย จำกัด ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 ตามหนังสือแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัทกรีไทย จำกัด เป็นลูกหนี้ของจำเลยโดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 บริษัทกรีไทย จำกัด ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโครงการคลาส – วี บิลดิ้ง ที่มีต่อบริษัทคลาส – วี จำกัด จำนวน 770,000,000 บาท ให้แก่จำเลยตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งบริษัทดังกล่าวชำระเงินให้แก่จำเลยไม่ตรงตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยจึงยื่นฟ้องบริษัทคลาส – วี จำกัด ต่อศาล และเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 ศาลแพ่งพิพากษาให้บริษัทคลาส – วี จำกัด ชำระเงิน 114,436,010.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 100,558,101.73 บาท นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ตามสำเนาคำพิพากษา ต่อมาบริษัทกรีไทย จำกัด ถูกพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทกรีไทย จำกัด ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในมูลหนี้ที่มีอยู่ตามสัญญากู้ยืมเงิน ขายลดตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด ทรัสต์รีซีทและจำนอง ตามสำเนาคำขอรับชำระหนี้และสัญญาจำนอง ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2546 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทคลาส – วี จำกัด เด็ดขาด ตามสำเนาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์แนวหน้าฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2546 และลงประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2546 ตามสำเนาประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สำเนาประกาศหนังสือพิมพ์ และราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจำเลยไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทคลาส – วี จำกัด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทคลาส – วี จำกัด เป็นการละเมิดต่อกองทรัพย์สินของบริษัทกรีไทย จำกัด หรือไม่ เห็นว่า ในเรื่องละเมิดต้องเป็นเรื่องการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ซึ่งการกระทำนั้น รวมถึงการงดเว้นในหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผล พฤติการณ์ของจำเลยที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัทกรีไทย จำกัด ก็คือ การที่จำเลยงดเว้นไม่นำหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 141,719,614.38 บาท ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทคลาส – วี จำกัด โดยอ้างว่าทำให้กองทรัพย์สินของบริษัทกรีไทย จำกัด ได้รับความเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้ดังกล่าว เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 2 ระบุว่าการโอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัทกรีไทย จำกัด มีต่อบริษัทคลาส – วี จำกัด ให้แก่จำเลยก็เพื่อเป็นการประกันหนี้ต่าง ๆ ของบริษัทกรีไทย จำกัด ที่มีต่อจำเลย ซึ่งหากจำเลยได้รับชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องต่ำกว่าหนี้สิน บริษัทกรีไทย จำกัด ก็ยังต้องรับผิดในส่วนที่ขาดต่อโจทก์ตามสัญญา ข้อ 8 ทั้งยังต้องรับผิดในมูลหนี้เดิมตามสัญญา ข้อ 9 ภาระหนี้ที่บริษัทกรีไทย จำกัด จะต้องรับผิดต่อจำเลยจึงเป็นไปตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งเกิดจากความสมัครใจของบริษัทกรีไทย จำกัด ที่จะตกลงผูกพันเช่นนั้น เมื่อทั้งบริษัทคลาส – วี จำกัด และบริษัทกรีไทย จำกัด ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมก่อให้สิทธิแก่จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทุกคน ส่วนจำเลยจะยื่นคำขอรับชำระหนี้คนใด หรือไม่ยื่นคำขอชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้คนใดก็เป็นสิทธิของจำเลย และเมื่อไม่ปรากฏว่าการงดเว้นไม่ขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทคลาส – วี จำกัด ของจำเลยเป็นการงดเว้นการใช้สิทธิซึ่งมีความประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทกรีไทย จำกัด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดต่อกองทรัพย์สินของบริษัทกรีไทย จำกัด จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้รับผิดค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share