คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12781/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อพิจารณาทรัพย์สินต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ และมีอยู่ก่อนอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ ทั้งมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับรายได้ประจำของจำเลยที่ 1 ย่อมเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินฝากไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้กระทบกระเทือนถึงฐานะและความสามารถในการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเพราะเป็นการกระทำที่ไม่ทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งว่า การทำนิติกรรมของจำเลยที่ 2 ในการซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 40722 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 111/182 แทนจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ตกเป็นโมฆะ ให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่ง และให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง โดยให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้นกลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว หากการเพิกถอนไม่อาจกระทำได้ ให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่มีอยู่กึ่งหนึ่งในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลส่วนที่เกินศาลละ 200 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันชั้นฎีการับฟังว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองประกอบอาชีพเป็นตัวแทนขายประกันให้แก่บริษัทอเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด เดิมทำงานร่วมกันอยู่ในหน่วยศิลาทิพย์ โดยจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการหน่วย โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารหน่วย และจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นตัวแทนขายประกัน โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและพักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่ปี 2537 ต่อมาปี 2552 จำเลยที่ 1 ประพฤตินอกใจโจทก์ไปคบหากับจำเลยที่ 2 และเบิกถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี นำไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 40722 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 26 เศษ 1 ในส่วน 10 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น เลขที่ 111/182 เนื้อที่ใช้สอย 190 ตารางเมตร ในโครงการภัทรโมทาวน์ จากบริษัทพิจิตร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด โดยทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์รวม แล้วจำเลยที่ 1 ไปอยู่กินกับจำเลยที่ 2 ที่บ้านดังกล่าว จนกระทั่งในกลางเดือนตุลาคม 2553 จำเลยที่ 1 เกิดมีปากเสียงกับจำเลยที่ 2 และไม่ยอมให้จำเลยที่ 2 อยู่อาศัยในบ้านอีกต่อไป หลังจากนั้นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดพระโขนงเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1797/2553 ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันตามสำเนาคำฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงแบ่งทรัพย์สินตามที่โจทก์ฟ้องให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งและศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาตามยอมตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2280/2553 ในวันเดียวกัน โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสอง แล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 40722 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง 111/182 เพื่อบังคับชำระหนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2280/2553 ของศาลจังหวัดพระโขนง ภายหลังจากยื่นฟ้องคดีนี้ ปัจจุบันโจทก์และจำเลยที่ 1 กลับมาอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาเช่นเดิม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 40722 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 111/182 และจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าเงินที่นำไปซื้อเป็นของโจทก์ด้วย ทำให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เหลือไม่เพียงพอที่โจทก์จะบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น มิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย” จากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เนื่องจากทรัพย์สินของลูกหนี้เหล่านี้ย่อมเป็นหลักประกันการชำระหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 214 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เจ้าหนี้ที่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้ดังกล่าวและต้องเสียเปรียบเนื่องจากทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้เพราะการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ เมื่อคดีนี้ได้ความว่า นอกจากโจทก์และจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินร่วมกันตามที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 จนกระทั่งศาลได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยมีทรัพย์สินที่ปรากฏในรายการทรัพย์สินคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 25667 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ราคา 480,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 282112 ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 239/182 ราคา 3,452,000 บาท รถยนต์ยี่ห้อเบ็นซ์ รุ่น อี 220 ราคา 400,000 บาท บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ฝากไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ( มหาชน ) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน ) ที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1797/2553 ว่ามียอดเงินในบัญชีเงินฝากปัจจุบันคงเหลือรวมเป็นเงิน 5,907,899 บาท และมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความโจทก์และจำเลยที่ 1 รับว่า จำเลยที่ 1 ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์และจำเลยที่ 1 พักอาศัยร่วมกันในขณะยื่นฟ้องดังที่ปรากฏในภูมิลำเนาที่อยู่ตามฟ้องของโจทก์และจำเลยที่ 1 ยิ่งกว่านั้นจำเลยที่ 1 ยังมีรายได้ประจำในการประกอบอาชีพเป็นตัวแทนขายประกันให้แก่บริษัทอเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด ซึ่งเป็นรายได้ที่แน่นอนที่โจทก์สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนประจำเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ได้ เมื่อพิจารณาทรัพย์สินต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ และมีอยู่ก่อนอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ ทั้งมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับรายได้ประจำของจำเลยที่ 1 ย่อมเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินฝากไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้กระทบกระเทือนถึงฐานะและความสามารถในการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเพราะเป็นการกระทำที่ไม่ทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share