คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6194-6195/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขอระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากคู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบก่อนสืบเสร็จแล้วต้องเป็นไปตามบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยเป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นแสดงถึงหนี้ที่เกิดขึ้นมาภายหลังที่สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จึงเป็นเอกสารที่จำเลยไม่สามารถทราบก่อนสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นได้ว่าต้องนำสืบเพื่อประโยชน์ของตน แต่ข้อสำคัญแห่งประเด็นของคดีมีว่า เมื่อถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้โจทก์เท่าใด ซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงจำนวนหนี้ที่มีถึงวันฟ้องเสร็จสิ้นไปแล้วการที่จำเลยจะนำสืบถึงเอกสารที่แสดงถึงจำนวนหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้วย่อมไม่ทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเลยจึงระบุพยานเพิ่มเติมไม่ได้ ครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วบัญชีของจำเลยมีทั้งการถอนเงินจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีต่อไปอีก โดยจำเลยถอนเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2524 และนำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2526 แสดงว่าโจทก์กับจำเลยตกลงให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาแม้ตามรายการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2526 มีเฉพาะการนำเงินเข้าบัญชีเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการถอนเงินจากบัญชีก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาแก่อีกฝ่ายหนึ่งบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่เลิกกันในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2524 แต่จะเลิกกันในวันครบกำหนดที่โจทก์บอกเลิกสัญญาและทวงถามให้ชำระเสร็จสิ้น เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มีนาคม 2529 ต้องถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยทบต้นในต้นเงินที่ค้างชำระได้จนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2529ต่อจากนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2521 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปีกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2522 และตกลงว่าหากครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้และยังคงเบิกเงินโจทก์ต่อไปอีก ให้เป็นอันตกลงว่าเงินที่ได้เบิกไปภายหลังกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินเบิกเงินเกินบัญชีเดิมทั้งสิ้นและโจทก์จะเรียกร้องทวงถามให้ชำระหนี้เมื่อใดก็ได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2522 จำเลยที่ 1 ตกลงเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์อีก 450,000 บาท ซึ่งรวมกับวงเงินเดิมแล้วเป็นวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสิ้น 650,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งรายละเอียดข้อตกลงและวิธีการคำนวณดอกเบี้ยทบต้นตลอดจนเงื่อนไขต่าง ๆ เหมือนเดิม กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 19 เมษายน 2523 ในการกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนด 18036 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์ในวงเงิน 200,000 บาทยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นแก่โจทก์อัตราร้อยละ 15 ต่อปี กับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินน.ส. 3 เลขที่ 445, 446 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์ในวงเงิน 450,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หากบังคับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยทั้งสองใช้เงินส่วนที่ขาดอยู่จนครบ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น ยังคงเบิกเงินเกินบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนกันเรื่อยมาอีก โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพิ่มตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไปจึงมีหนังสือทวงถามบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสอง เมื่อครบกำหนดเวลาที่แจ้งในหนังสือทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองไม่จัดการชำระหนี้ โจทก์จึงได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคิดดอกเบี้ยจากเดิมซึ่งคิดทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นคิดดอกเบี้ยโดยวิธีธรรมดาอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2529 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดทวงถามเป็นต้นไปขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 3,835,759.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 2,286,919.39 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 2,327,866.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 2,324,045.86 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 18036 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนการจำนองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 445, 446 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจากโจทก์ด้วยการชำระหนี้เงินตามจำนวนดังกล่าว ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ ให้นำทรัพย์สินที่จำนองไว้กับโจทก์ออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ส่วนที่ยังขาดอยู่จนกว่าจะครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เบิกเงินไปจากโจทก์ไม่เกินวงเงิน 650,000 บาท เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2523 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์อยู่เพียง 650,000 บาท การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเท่านั้นเมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจคิดดอกเบี้ยทบต้นเอากับจำเลยที่ 1 ได้อีก แต่โจทก์ได้คิดดอกเบี้ยทบต้นกับจำเลยที่ 1 ตลอดมาจนถึงวันที่30 มีนาคม 2529 อย่างไรก็ตามหากโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้อีกหลังจากที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้ว โจทก์มีสิทธิคิดได้เพียงวันที่ 19 เมษายน 2524ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้อีก ในวันที่ 19 เมษายน 2523 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นกับจำเลยที่ 1 นับแต่วันดังกล่าวได้อีกเพียง 5 ปี ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น ซึ่งจะเป็นดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระแก่โจทก์เพียง 487,500 บาท จึงเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์รวมทั้งสิ้น 1,137,500 บาทขอให้พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ส่งเอกสารแจ้งยอดหนี้ในบัญชีให้จำเลยทราบถึงการหักทอนบัญชีและแจ้งหนี้ครั้งสุดท้ายภายหลังจากโจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว เป็นเหตุให้จำเลยสามารถยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ก่อนการสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น จึงขออนุญาตระบุพยานเพิ่มเติมศาลชั้นต้นสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม่เข้าเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ประกอบกับไม่ใช่เอกสารที่ประกอบเด็นในคดี จึงไม่อนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 2,286,919.39 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 1,188,026.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2529 และวันที่ 31 มีนาคม 2529 ตามลำดับจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 18036 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองที่ดินน.ส.3 เลขที่ 445, 446 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจากโจทก์ ถ้าไม่ยอมชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองแล้ว ให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้จำเลยทั้งสองใช้ส่วนที่ขาดอยู่จนกว่าจะครบ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ และอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2521จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์ ในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท ตกลงคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนในวันที่ 16 มิถุนายน 2522 และยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นด้วยตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โดยจำเลยที่ 1 นำเอาที่ดินโฉนดเลขที่ 18036 จำนองไว้เป็นประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2522 จำเลยที่ 1 ตกลงเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์อีกจำนวน 450,000 บาท กำหนดชำระเงินคืนในวันที่ 19 เมษายน 2523 ยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง ในการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วจำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีอีกต่อไป ต่อมาจำเลยที่ 1 มิได้ถอนเงินจากบัญชีหรือนำเงินเข้าบัญชีอีกเลย โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาคำสั่งของจำเลยที่ 1 มีว่าศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ขอระบุพยานเพิ่มเติมเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปรากฏว่าหลังจากสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนเสร็จสิ้นแล้วจำเลยที่ 1 ร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมโดยอ้างว่าเป็นเอกสารที่โจทก์ส่งให้จำเลยภายหลังที่โจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว เป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ก่อนสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น และเอกสารดังกล่าวเป็นสาระสำคัญในประเด็นแห่งคดีว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่เท่าใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงขออนุญาตระบุพยานเพิ่มเติมตามบัญชีพยานและสำเนาเอกสารท้ายคำร้อง โจทก์คัดค้านว่าไม่ควรอนุญาต ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตและจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคำสั่งไว้แล้ว เห็นว่า การขอระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากคู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบก่อนสืบไปเสร็จสิ้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นกำหนดไว้ว่า พยานหลักฐานที่คู่ความจะขออนุญาตอ้างได้จะต้องเป็นพยานหลักฐานที่คู่ความฝ่ายนั้นมีเหตุอันสมควรแสดงว่าตนไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตนหรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำขอ ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมที่จำเลยที่ 1 ขออนุญาตมานั้นมี 3 อันดับ ซึ่งเป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นแสดงถึงหนี้ที่เกิดขึ้นมาภายหลังที่สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จึงเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถทราบก่อนสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นได้ว่าต้องนำมาสืบเพื่อประโยชน์ของตน แต่ข้อสำคัญแห่งประเด็นของคดีนี้มีว่า เมื่อถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์เท่าใด ซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงจำนวนหนี้ที่มีถึงวันฟ้องเสร็จสิ้นไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 จะนำสืบถึงเอกสารที่แสดงถึงจำนวนหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้วย่อมไม่ทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงไม่จำเป็นที่จะต้องสืบพยานดังกล่าว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เบิกจ่ายเงินจากบัญชีเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2524 จึงถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหรือบัญชีเดินสะพัดยกเลิกกันแล้วตั้งแต่วันนั้นเป็นต้น ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้อีกต่อไป ส่วนการที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2526 เป็นเพียงการผ่อนชำระหนี้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการแสดงเจตนาเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ต่อไปแต่อย่างใด สมควรวินิจฉัยปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันใดเสียก่อนเห็นว่าตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเป็นสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับหลังข้อ 4 กำหนดว่า จำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ตามสัญญานี้ให้หมดสิ้นภายในวันที่ 19 เมษายน 2523 ถึงแม้จำเลยที่ 1 จะได้ชำระหนี้หมดสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม หากจำเลยที่ 1 ยังคงเบิกเงินต่อไปอีกจำเลยที่ 1 ขอสัญญาว่าเงินที่เบิกไปภายหลังกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นหนี้เงินกู้ตามสัญญานี้ทั้งสิ้น และตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันประกอบกับพยานบุคคลได้ความทำนองเดียวกันว่า ครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วบัญชีของจำเลยที่ 1 มีทั้งการถอนเงินจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีต่อไปอีก โดยจำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายด้วยการสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2524 จำนวนเงิน 30,000 บาท และนำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2526 จำนวนเงิน 30,000 บาท แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา แม้จะปรากฏตามรายการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ว่าถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2526 มีเฉพาะการนำเงินเข้าบัญชีเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการถอนเงินจากบัญชีอีกเลยก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง บัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เลิกกันในวันทีจำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกา แต่จะเลิกกันในวันครบกำหนดที่โจทก์บอกเลิกสัญญาและทวงถามให้ชำระหนี้เสร็จสิ้น เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญยาและทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันนั้น ต้องถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยทบต้นในต้นเงินที่ค้างชำระได้จนถึงวันที่30 มีนาคม 2529 ต่อจากนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จและศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องมานั้นเป็นการถูกต้องแล้วและจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันที่ 30 มีนาคม 2529 เป็นเงินจำนวน 2,286,919.39 บาท
พิพากษายืน

Share