คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6192/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อความในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องมีข้อตกลงกันว่าจำเลยยินยอมให้โอนสิทธิเรียกร้องที่ร. จะได้รับเงินค่าจ้างจากจำเลยให้โจทก์เป็นผู้รับโดยมีเงื่อนไขว่าจะจ่ายเงินค่าจ้างให้ต่อเมื่อจำเลยได้หักค่าวัสดุที่ร.ค้างชำระอยู่กับจำเลยเรียบร้อยแล้วย่อมเท่ากับว่าจำเลยได้โต้แย้งแสดงการสงวนสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา308วรรคหนึ่งแล้วสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินดังกล่าวจึงไม่อาจเกินไปกว่าสิทธิที่ร.มีอยู่ตามสัญญาว่าจ้างจำเลยย่อมสามารถยกข้อต่อสู้ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องประกอบกับสัญญาว่าจ้างที่ตนมีต่อร. ซึ่งเป็นผู้โอนขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนได้จำเลยย่อมมีสิทธิหักเงินบรรดาค่าวัสดุที่ค้างชำระอยู่กับจำเลยได้โดยไม่จำกัดว่าค่าวัสดุที่ค้างจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเมื่อจำเลยได้คำนวณค่าวัสดุที่ร. ค้างชำระเสร็จสิ้นก่อนที่จะจ่ายเงินค่าจ้างจำเลยย่อมนำไปหักออกจากค่าจ้างคงชำระเงินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ว่าจ้างนายระจิตร ศรีหากุล ปลูกบ้านทาวน์เฮ้าส์ หมู่บ้านเกษรา ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2532นายระจิตรได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าจ้างปลูกบ้านตั้งแต่งวดที่ 4 ถึงงวดที่ 7 ให้แก่โจทก์จำเลยยินยอมให้โอนสิทธิเรียกร้องและจ่ายเงินถึงงวดที่ 6 แก่โจทก์แล้ว ครั้นถึงงวดที่ 7 จำเลยจ่ายเงินให้ไม่ครบถ้วน โดยงวดแรกต้องจ่าย64,000 บาท จำเลยจ่ายให้โจทก์ 52,934 บาท ส่วนงวดที่สองต้องจ่าย48,000 บาท จำเลยจ่ายให้ 32,528 บาท จึงยังคงขาดอยู่รวมทั้งสิ้น26,538 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 28,895.89 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 26,538 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การโอนสิทธิเรียกร้องตามฟ้องมีข้อตกลงว่าจำเลยมีสิทธิหักค่าวัสดุที่นายระจิตร ศรีหากุล ค้างชำระแก่จำเลยและค่าใช้จ่ายที่จำเลยได้ทดรองจ่ายแทนนายระจิตรไปก่อนเหลือเท่าไรจึงเป็นส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลย ซึ่งโจทก์ถือปฏิบัติตลอดมา จำเลยได้หักค่าวัสดุและค่าใช้จ่ายต่าง ๆที่นายระจิตรค้างชำระในงวดแรกจำนวน 11,066 บาท และงวดที่ 2จำนวน 15,472 บาท และชำระส่วนที่เหลือให้โจทก์รับไปแล้ว ซึ่งการหักค่าวัสดุและค่าใช้จ่ายเป็นไปตามข้อตกลงในการโอนสิทธิเรียกร้องไม่มีมูลหนี้ใดที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้องโจทก์
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่าค่าวัสดุที่ผู้รับจ้างค้างชำระต่อจำเลยอยู่ก่อนทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยมีสิทธิหักจากโจทก์ตามข้อความในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นายระจิตร ศรีหากุล ทำสัญญารับจ้างปลูกสร้างบ้านทาวน์เฮาส์กับจำเลยตามสำเนาหนังสือสัญญาปลูกสร้างบ้านทาวน์เฮาส์เอกสารหมาย ล.1 ต่อมานายระจิตรได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างงวดที่ 4 ถึงงวดที่ 7 ให้แก่โจทก์ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งมีข้อตกลงว่าจำเลยจะจ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างตามงวดให้แก่โจทก์หลังจากหักค่าวัสดุที่ผู้รับจ้างค้างชำระอยู่กับผู้ว่าจ้างเรียบร้อยแล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 308 วรรคหนึ่งบัญญัติมีใจความว่า ถ้าลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องโดยมิได้อิดเอื้อน ลูกหนี้จะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้กับผู้รับโอนไม่ได้ หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ตกลงไว้ว่า ตามที่นายระจิตรได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าจ้างสร้างบ้านงวดที่ 4 ถึงงวดที่ 7 ให้แก่โจทก์นั้น จำเลยยินดีให้โจทก์เป็นผู้รับเงินตามสัญญาว่าจ้างหลังจากหักค่าวัสดุที่นายระจิตรค้างชำระต่อจำเลยเรียบร้อยแล้วพิเคราะห์ตามข้อความในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องฉบับนี้แล้วคู่ความตกลงกันว่าจำเลยยินยอมให้โอนสิทธิเรียกร้องที่นายระจิตรจะได้รับเงินค่าจ้างจากจำเลยนั้นให้โจทก์เป็นผู้รับโดยมีเงื่อนไขว่าจะจ่ายเงินค่าจ้างให้ต่อเมื่อจำเลยได้หักค่าวัสดุที่นายระจิตรค้างชำระอยู่กับจำเลยเรียบร้อยแล้ว ย่อมเท่ากับว่าจำเลยได้โต้แย้งแสดงการสงวนสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 308วรรคหนึ่ง แล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินดังกล่าวจึงไม่อาจเกินไปกว่าสิทธิที่นายระจิตรมีอยู่ตามสัญญาว่าจ้าง จำเลยย่อมสามารถยกข้อต่อสู้ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องประกอบกับสัญญาว่าจ้างที่ตนมีต่อนายระจิตรซึ่งเป็นผู้โอนขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนได้ ฉะนั้นตามข้อความในหนังสือฉบับนี้จำเลยย่อมมีสิทธิหักเงินบรรดาค่าวัสดุที่ค้างชำระอยู่กับจำเลยได้ โดยไม่จำกัดว่าค่าวัสดุที่ค้างจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง เมื่อจำเลยได้คำนวณค่าวัสดุที่นายระจิตรค้างชำระเสร็จสิ้นที่จะจ่ายเงินค่าจ้าง จำเลยย่อมนำไปหักออกจากค่าจ้าง คงชำระเงินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share