แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 50352 ซึ่งอยู่ท้ายซอยสุดของทางพิพาท ถูกที่ดินแปลงอื่นของบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เว้นเสียแต่จะผ่านไปตามทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเพื่อออกสู่ถนนภายในหมู่บ้านและออกสู่ถนนซึ่งเป็นทางสาธารณะเพียงทางเดียว ฉะนั้น โดยนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคแรก โจทก์จึงชอบที่จะใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นผ่านไปสู่ทางสาธารณะได้ การที่จำเลยสร้างรั้วกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 421 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้เปิดทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นได้
การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินคนละแปลงโดยแบ่งโอนมาจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7210 ไม่ใช่แบ่งโอนมาจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1654 เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ โจทก์จะต้องไปเรียกร้องขอใช้ทางจำเป็นผ่านออกไปสู่ทางสาธารณะได้เฉพาะบนที่ดินแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ 7210 จะมาเรียกร้องเอาทางจำเป็นจากที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นที่ดินแปลงอื่นและไม่ได้แบ่งโอนมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 7210 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ไม่ได้ โดยศาลอุทธรณ์พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่นอกฟ้องนอกประเด็นและไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินโฉนดเลขที่ 50352 เนื้อที่ 40 ตารางวา อยู่ติดเป็นผืนเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 87781 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์ได้ใช้ที่ดินของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ติดกับที่ดินโจทก์เป็นทางเข้าออกสู่ถนนภายในหมู่บ้านและถนนเพชรเกษม ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำถนนคอนกรีตบนที่ดินที่เป็นทางที่โจทก์ใช้เดินดังกล่าว และได้ปิดกั้นทางเดินโดยสร้างรั้วกำแพงไม่ยอมให้โจทก์ใช้ทางจำเป็นดังกล่าว โจทก์ไม่มีทางอื่นใดออกสู่ทางสาธารณะได้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนรั้วกำแพงของจำเลยที่ 1 ออกไปจากที่ดินที่ติดกับที่ดินของโจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมรื้อถอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลสั่งให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนเอง โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้มอบอำนาจให้นายจาตุรงค์ ท้วมทอง เป็นผู้ฟ้องคดีนี้ และโจทก์ไม่เคยใช้ทางเดินเข้าออกในหมู่บ้านของจำเลยมาก่อน โจทก์กับคนในบ้านบุคคลอื่นประมาณ 18 หลังมีทางเดินคอนกรีตกว้าง 1 เมตร ผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว และได้จดทะเบียนเป็นภารจำยอมให้ใช้ทางภายในหมู่บ้านอยู่ก่อนที่จำเลยทั้งสามจะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ที่ดินของโจทก์จึงไม่ถูกที่ดินของจำเลยที่ 1 ล้อมอยู่จนไม่มีทางผ่านออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทั้งสามเปิดทางให้แก่โจทก์ก่อนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว เพราะเป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รื้อรั้วกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไปจากที่ดินในส่วนที่ติดกับที่ดินของโจทก์ กว้าง 1.50 เมตร สูง 2 เมตร โดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ยกฟ้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 1 เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 1654 ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2502 จึงได้แบ่งแยกออกเป็น 7 แปลง วันที่ 3 ธันวาคม2530 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากพันตำรวจเอกพลศรี ชวนไชยสิทธิ์ แล้วจำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ส่วนของตนเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 94 ตารางวา ออกจากโฉนดเลขที่ 1654 เป็นโฉนดที่ดินใหม่เลขที่ 87781 ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินซึ่งเดิมเป็นโฉนดเดียวกันปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะจำเลยที่ 1 จัดสรรที่ดินแบ่งขายต่อบุคคลอื่นตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 87781 เอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 8 แล้วจำเลยที่ 1 สร้างรั้วกำแพงปิดกั้นทางพิพาท
มีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาทตามแผนที่เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 เอกสารหมาย จ.6 และแผนที่สังเขปเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งจำเลยที่ 1 สร้างรั้วกำแพงปิดกั้นไว้ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 50352ซึ่งอยู่ท้ายซอยสุดของทางพิพาท ถูกที่ดินแปลงอื่นของบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ เว้นเสียแต่จะผ่านไปตามทางพิพาทเพื่อออกสู่ถนนภายในหมู่บ้านและออกสู่ถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นทางสาธารณะเพียงทางเดียว ฉะนั้น โดยนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคแรก ศาลเห็นว่า โจทก์ชอบที่จะใช้ทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นทางจำเป็นสำหรับโจทก์ผ่านไปสู่ทางสาธารณะได้จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิปิดกั้นทางเดินโดยสร้างรั้วกำแพงไม่ยอมให้โจทก์ใช้ทางจำเป็นดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 สร้างรั้วกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้เปิดทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นได้
ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นที่ดินคนละแปลงโดยแบ่งโอนมาจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7210 ไม่ใช่แบ่งโอนมาจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1654 เอกสารหมาย จ.5 เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ โจทก์จะต้องไปเรียกร้องขอใช้ทางจำเป็นผ่านออกไปสู่ทางสาธารณะได้เฉพาะบนที่ดินแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ 7210 จะมาเรียกร้องเอาทางจำเป็นจากที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงอื่นและไม่ได้แบ่งโอนมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 7210ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเป็นการที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่นอกฟ้องนอกประเด็นและไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
อนึ่ง ที่โจทก์มีขอท้ายคำฟ้องว่า หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนเองโดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น ในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะกระทำได้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 เบญจ ดังนั้น จึงให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนในการรื้อถอนรั้วกำแพงให้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 เบญจนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์