คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6187/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ถือเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องได้ฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง ตามข้อ 1(ค) แห่งตาราง 1ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งระบุไว้ว่า ให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 1 แต่ไม่ให้เกิน 100,000 บาท ต่อเมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีจึงให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.5 แต่คดีนี้จำเลยมิได้คัดค้านหรือสู้ คดีแต่อย่างใด การที่โจทก์คัดค้านจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อนี้ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลเกินมา 100,000 บาท เห็นควรคืนให้แก่ผู้ร้อง แม้ผู้ร้องจะมิได้ฎีกาขึ้นมาโดยตรงก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ผู้ร้องร้องขอให้เอาเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้ชำระหนี้ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น เสมือนหนึ่งผู้ร้องฟ้องบังคับจำนองต่อจำเลยแล้ว จำเลยก็มีหน้าที่จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนผู้ร้อง หรือนัยหนึ่งให้ไปเรียกเอาจากกองทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ซึ่งบัญญัติเรื่องความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียมไว้นั้น ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะให้ใช้ได้.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขอของโจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อผู้ร้องและโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าวไว้แล้วผู้ร้องขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองและเสียค่าขึ้นศาล 100,000 บาท
โจทก์ยืนคำคัดค้านว่า คำร้องขอดังกล่าวเคลือบคลุม ผู้ร้องปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานานจึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค่าเบี้ยประกันภัย ผู้ร้องมีบุริมสิทธิ์ไม่เกินวงเงิน 6,000,000 บาทผู้ร้องคิดดอกเบี้ยค่าทดรองจ่ายเบี้ยประกันโดยฉ้อฉลและไม่สุจริตขอให้ยกคำร้อง
วันที่ 20 มกราคม 2530 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำสั่งนัดแรกศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า เนื่องจากคดีนี้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลตามอันตราร้อยละ 1 โจทก์คัดค้าน ผู้ร้องจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 2.5 จึงให้ผู้ร้องนำค่าขึ้นศาลมาชำระให้ครบภายใน 15 วัน ให้เลื่อนไปนัดฟังคำสั่งวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2530ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มอีกจำนวน 100,000 บาท รวมเป็นเงินค่าขึ้นศาลทั้งสิ้น 200,000 บาทถึงวันนัดฟังคำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเป็นเงิน 12,544,352 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีจากต้นเงิน 6,000,000 บาท และ 19,912 บาท นับตั้งแต่วันยื่นคำร้อง (วันที่ 3 เมษายน 2529) เป็นตันไปจนกว่าจะชำระเสร็จรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ ส่วนค่าทนายความให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาในชั้นนี้มีว่า โจทก์จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลทั้งหมดแทนผู้ร้องหรือไม่ ก่อนที่จะวินิจฉัยถึงปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นว่าสมควรจะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลจากผู้ร้องไว้ร้อยละ 2.5 นั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์ตาราง 1 ข้อ 1 (ค) แห่งท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งมีความว่า
(1) คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ให้คิดค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ดังต่อไปนี้
(ค) คำฟ้องขอให้บังคับจำนอง หรือบังคับเอาทรัพย์สินจำนองหลุดให้เรียกโดยอัตราหนึ่งบาทต่อทุกหนึ่งร้อยบาทตามจำนวนหนี้ที่เรียกร้อง แต่ไม่ให้เกินหนึ่งแสนบาท ต่อเมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีจึงให้เรียกโดยอัตราตาม (ก) ข้อเท็จจริงในคดีนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ถือเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องได้ฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง ตามข้อ 1 (ค) แห่งตาราง 1 ดังกล่าวได้ระบุไว้ว่าให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 1 แต่ไม่ให้เกินหนึ่งแสนบาท ศาลชั้นต้นได้เรียกค่าขึ้นศาลจากผู้ร้องมาถึงร้อยละ 2.5 โดยอ้างว่าโจทก์ได้คัดค้าน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ค) นั้นได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า ต่อเมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีจึงให้เรียกค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.5 แต่คดีนี้จำเลยมิได้คัดค้านหรือสู้คดีแต่อย่างใด การที่โจทก์คัดค้านจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อนี้แม้ผู้ร้องจะมิได้ฎีกาขึ้นมาโดยตรง ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลมาจึงเกินไป 100,000 บาทเห็นควรคืนให้แก่ผู้ร้อง
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลทั้งหมดแทนผู้ร้องหรือไม่เห็นว่า เมื่อฟังว่าจำเลยถูกผู้ร้องร้องขอให้เอาเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้มาชำระหนี้ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นเสมือนหนึ่งผู้ร้องฟ้องบังคับจำนองต่อจำเลยแล้ว จำเลยก็มีหน้าที่จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนผู้ร้อง หรือนัยหนึ่งให้ไปเรียกเอาจากกองทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ซึ่งบัญญัติเรื่องความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียมไว้นั้น ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะใช้ได้อยู่แล้ว ไม่ใช่โจทก์ต้องรับผิดเพราะโจทก์เป็นฝ่ายคัดค้านเสมอไป ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ผู้ร้องได้รับชำระค่าฤชาธรรมเนียมจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นศาลชั้นต้นแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 100,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share