คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีในฐานะผู้อนุบาล ส. ปรากฏว่า ส.ตายระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ ดังนี้ ความตายของ ส.อันมีผลให้ความเป็นผู้อนุบาลของ ส.สิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1572, 1581 ในเวลาภายหลังย่อมไม่ทำให้สิทธิหน้าที่ของโจทก์ที่ได้มีอยู่ในขณะฟ้องเปลี่ยนแปลงไป โจทก์ในฐานะผู้อนุบาลของ ส.มาแต่เริ่มใช้สิทธิเรียกร้องคดีนี้ จึงยังมีสิทธิและอำนาจที่จะฎีกาหลังการตายของ ส.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนกรกรฎาคมและสิงหาคม ๒๕๑๐ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นายเสิด สุวรรณพิบูลย์ บิดาโจทก์ป่วยเป็นอัมพาต และนางทองใบ สุวรรณพิบูลย์ มารดาโจทก์ซึ่งได้รักษาพยาบาลดูแลนายเสิด สุวรรณพิบูลย์ จนได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างแรงเป็นเหตุให้จิตไม่สมประกอบ จำเลยซึ่งเป็นหลานของบุคคลทั้งสอง ได้ใช้อุบายด้วยประการต่าง ๆ ให้นางทองใบตกลงขายสินบริคณห์ คือหุ้นในบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด จำนวน ๒๖๓ หุ้น และรถยนต์โดยสารจำนวน ๒๐ คันให้จำเลย นางทองใบหลงเชื่อจำเลยได้ทำสัญญาขายหุ้นและรถยนต์ดังกล่าวให้จำเลยไปในราคา ๑,๒๒๙,๑๐๘.๙๐ บาท แล้วจำเลยกับพวกได้นำสัญญานั้นไปใช้วิธีการต่าง ๆ ให้นายเสิดลงชื่อในสัญญา นายเสิดได้ลงชื่อในสัญญาให้จำเลยไปโดยไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นสัญญาซื้อขาย ทั้งไม่สามารถให้ความยินยอมแก่นางทองใบในการทำนิติกรรมด้วย โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอเป็นผู้อนุบาลนายเสิด ศาลแพ่งได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ๑๖๘๖/๒๕๑๒ ว่า นายเสิดเป็นบุคคลไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความอนุบาลของโจทก์ โจทก์ได้ทำหนังสือบอกล้างนิติกรรมไปยังจำเลย จึงขอศาลได้พิพากษาว่าสัญญาซื้อขายหุ้นและรถยนต์ฉบับลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๑๐ ระหว่างนายเสิดและนางทองใบผู้ขาย กับนายวุฒิชัย จันทร์รุ่งสกุล จำเลยผู้ซื้อเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนและให้จำเลยคืนทรัพย์สินตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ขณะทำสัญญาซื้อขายหุ้นและรถยนต์รายพิพาทนายเสิดยังมีอาการรู้สึกผิดชอบเป็นปกติดี ส่วนนางทองใบก็ยังสามารถจัดกิจการงานต่าง ๆ ได้ตามปกติ ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ปัญหาข้อแรกตามข้อแก้ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้อนุบาลของนายเสิด ปรากฏว่านายเสิดได้ตายเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ ซึ่งขณะนั้นคดียังค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ โจทก์ย่อมหมดฐานะความเป็นผู้อนุบาลและไม่มีอำนาจฎีกาต่อมานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า นายศุภชัยในฐานะผู้อนุบาลนายเสิดได้ฟ้องจำเลย ฉะนั้น การตายของนางเสิดอันมีผลให้ความเป็นผู้อนุบาลของนายศุภชัยสิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๗๒, ๑๕๘๑ ในเวลาภายหลัง ย่อมจะไม่ทำให้สิทธิและหน้าที่ของนายศุภชัยที่ได้มีอยู่ในขณะฟ้องเปลี่ยนแปลงไป นายศุภชัยในฐานะผู้อนุบาลนายเสิดมาแต่เริ่มใช้สิทธิเรียกร้องในคดีเรื่องนี้ จึงยังมีสิทธิและอำนาจที่จะฎีกาหลังการตายของนายเสิด
ส่วนข้อเท็จจริงนั้น ศาลฎีกาฟังว่านายเสิดทำสัญญารายพิพาทในขณะที่มีสติสัมปชัญญะดี นายเสิดหาได้ป่วยเป็นคนวิกลจริตไม่มีความรู้สึกผิดชอบในขณะทำสัญญาไม่ สัญญาซื้อขายหุ้นและรถยนต์พิพาทจึงมีผลบังคับได้
พิพากษายืน

Share