แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์อุทธรณ์ทั้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเรื่องอำนาจฟ้องหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วและอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการวินิจฉัยก่อน แต่ตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อที่ว่า โจทก์นำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลโดยมิได้ผ่านขบวนการอนุญาโตตุลาการก็เพราะโจทก์พยายามจัดให้มีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติข้อพิพาทแล้ว แต่จำเลยไม่ประสงค์จะให้มีการเจรจา และอุทธรณ์ข้อที่ว่า จำเลยมีโอกาสยกข้อต่อสู้เรื่องข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการมาตั้งแต่ขณะยื่นคำให้การแล้ว คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยจึงฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 180 อุทธรณ์ทั้งสองข้อดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่จำเลยซื้อลิฟท์และบันไดเลื่อนพร้อมติดตั้งจำนวน ๓๒,๒๒๘,๙๙๙.๗๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒๗,๗๓๘,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้พิพากษายกฟ้อง
หลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะสัญญาซื้อขายลิฟท์และบันไดเลื่อนพร้อมเงื่อนไข ข้อ ๒๔ ระบุว่า หากผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมามีข้อโต้แย้งไม่ว่าเรื่องใด ๆ ก็ตามอันเกิดจากสัญญานี้หรือการก่อสร้างในช่วงระหว่างที่ก่อสร้างหรือภายหลังจากงานก่อสร้างแล้วหรือก่อนหรือหลังการบอกเลิกสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายควรใช้ความพยายามโดยสันติวิธีเพื่อหาข้อยุติข้อโต้แย้ง หรือข้อโต้เถียง หรือ ข้อเรียกร้อง หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้หาข้อยุติโดยเข้าสู่ขบวนการอนุญาโตตุลาการตามกฎของสำนักงานอนุญาโตตุลาการกระทรวงยุติธรรม โดยใช้กฎหมายที่บังคับใช้ ณ วันที่ยื่นคำร้อง การดำเนินการให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานอนุญาโตตุลาการ เมื่อโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญา โจทก์จึงต้องนำข้อพิพาทคดีนี้ขึ้นสู่อนุญาโตตุลาการใหวินิจฉัยชี้ขาดก่อน การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยไม่นำสู่สำนักงานอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการผิดข้อตกลงในสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะก่อนฟ้องคดีโจทก์มิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการวินิจฉัยก่อน
ในวันนัดสืบพยานจำเลย ศาลชั้นต้นสอบโจทก์แล้วแถลงว่าสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งลิฟท์และบันไดเลื่อนมีข้อสัญญาเกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการตามคำร้องของจำเลยจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ทั้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ เรื่องอำนาจฟ้องและอุทธรณ์คำพิพากษาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ ซึ่งการจะอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นอุทธรณ์เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ ๓ ว่า เหตุผลข้อหนึ่งที่โจทก์ จำเป็นต้องนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลโดยมิได้ผ่านขบวนการอนุญาโตตุลาการก็เพราะโจทก์พยายามจัดให้มีการเจรจาเพื่อหา ข้อยุติข้อพิพาทแล้ว แต่จำเลยไม่ประสงค์จะให้มีการเจรจา คู่ความจึงนำคดีมาฟ้องโดยไม่ผ่านขั้นตอนการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีก่อนเข้าสู่ขบวนการอนุญาโตตุลาการ อุทธรณ์ข้อ ๔ ว่า จำเลยมีโอกาสยกข้อต่อสู้เรื่องข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการมาตั้งแต่ขณะยื่นคำให้การแล้ว คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยจึงฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐ อุทธรณ์ทั้งสองข้อดังกล่าวของโจทก์เป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงชอบที่จะดำเนินการส่งอุทธรณ์ของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ จึงไม่ถูกต้อง
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการ ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป .