คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6186/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่1ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์และได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์และเพิ่มวงเงินกู้2ครั้งรวมเป็นวงเงิน5,000,000บาทคิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดตามประเพณีการค้าของธนาคารร้อยละ15ต่อปีโดยมีกำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญาหลังจากนั้นจำเลยที่1ได้ถอนเงินและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีกันตลอดมาจนสัญญาครบกำหนดจำเลยที่1คงเบิกเงินจากบัญชีต่อไปแต่ไม่ได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่1เป็นหนี้โจทก์อีกต่อไปจึงได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่1จำเลยที่1คงค้างชำระหนี้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน7,095,820.70บาทรายละเอียดปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่1ซึ่งโจทก์จะส่งศาลให้ชั้นพิจารณาขอให้จำเลยที่1รับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ดังนี้คำฟ้องดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้วแม้โจทก์จะไม่มีบัญชีเดินสะพัด(บัญชีกระแสรายวัน)ของจำเลยที่1แนบมาท้ายฟ้องแต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดรวมอยู่ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีรายละเอียดปรากฏอยู่ในบัญชีกระแสรายวันที่โจทก์ไม่ได้แนบบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่1มาท้ายฟ้องจึงไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม เอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศเกี่ยวกับคำขอเปิดเลตเตอร์2ฉบับตั๋วแลกเงิน6ฉบับและทรัสต์รีซีท6ฉบับรวม15ฉบับซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่1ได้ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศรวม3ครั้งค่าสินค้าคิดเป็นเงินตราต่างประเทศตามจำนวนที่ระบุในฟ้องโจทก์ได้ชำระค่าสินค้าดังกล่าวแก่ผู้ขายในต่างประเทศแล้วเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยจำเลยที่1ไม่ชำระค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์แต่จำเลยที่1ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์รวม6ฉบับเพื่อขอรับเอกสารเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวไปขอออกสินค้าก่อนโดยทำตั๋วแลกเงินสัญญาว่าจะชำระเงินแก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่กำหนดรวม6ฉบับให้โจทก์ไว้เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีททั้งหกฉบับถึงกำหนดโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่1ชำระจำเลยที่1ชำระค่าสินค้าให้โจทก์บางส่วนคงค้างชำระค่าสินค้าและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน4,551,867.19บาทโดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขที่คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจำนวนเงินค่าสินค้าชื่อบริษัทผู้ขายในต่างประเทศเลขที่ตั๋วแลกเงินพร้อมจำนวนเงินตามตั๋วและรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่นๆตามใบแจ้งเรียกเก็บเงินของโจทก์กับจำนวนเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์บางส่วนแล้วคำฟ้องในส่วนนี้จึงมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ชัดแจ้งแล้วเอกสารท้ายฟ้องหมายเลขดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานที่โจทก์ส่งประกอบคำบรรยายฟ้องเท่านั้นแม้จะเป็นภาษาต่างประเทศก็ไม่มีผลทำให้คำฟ้องที่มีข้อความชัดแจ้งแล้วกลับกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุม ข้อความในหนังสือมอบอำนาจเป็นเรื่องโจทก์ตั้งป. เป็นตัวแทนของโจทก์ให้มีอำนาจฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งคดีอาญาคดีล้มละลายและกิจการทั้งหลายอื่นอันเกี่ยวเนื่องกับคดีดังกล่าวภายในขอบวัตถุประสงค์ของธนาคารโจทก์ต่อศาลทั้งปวงป. จึงเป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจฟ้องคดีหรือทำกิจการใดๆเกี่ยวกับคดีในศาลแทนโจทก์ได้ทุกอย่างโดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพียงคดีเดียวและหนังสือมอบอำนาจเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการมากกว่าครั้งเดียวจึงปิดอากรแสตมป์30บาทถูกต้องตามข้อ7(ข)ของบัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรแล้วโจทก์จึงมีสิทธิที่จะใช้ตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีในคดีแพ่งได้ทุกคดีหาได้ฝ่าฝืนประมวลรัษฎากรมาตรา118ไม่การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงชอบแล้ว จำเลยที่1ได้ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์2ครั้งในวงเงิน5,000,000บาทโดยสัญญาดังกล่าวมีข้อความในข้อ2และ3ใจความว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีกำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือนถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนดดังกล่าวก็ยอมให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินที่ค้างชำระเป็นคราวๆไปและให้ถือว่าเป็นต้นเงินที่ผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยในคราวต่อไปตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันปรากฏว่ามีการหักทอนบัญชีและคิดดอกเบี้ยทบต้นกันทุกวันสิ้นเดือนประกอบกับในบัญชีกระแสรายวันมีแต่รายการที่จำเลยที่1สั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีกับรายการคิดดอกเบี้ยเท่านั้นดังนี้แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่1ได้ปฏิบัติต่อกันตามข้อตกลงในลักษณะเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่อกันอันเป็นบัญชีเดินสะพัดโดยมีการถอนเงินและนำเงินเข้าเพื่อหักทอนบัญชีกับคิดดอกเบี้ยทบต้นกันตลอดมาโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามข้อ3ของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวข้างต้น สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดตามสัญญาที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่1เบิกเงินเกินบัญชีและจำเลยที่1ต้องนำเงินเข้าบัญชีมีการหักทอนบัญชีกันเป็นระยะจึงมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดด้วยเมื่อสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาตามสัญญาสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ย่อมสิ้นสุดไปด้วยปรากฏว่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเมื่อวันที่25เมษายน2532จำเลยที่1เป็นหนี้โจทก์5,492,962.01บาทหลังจากครบกำหนดเวลาตามสัญญาโจทก์ยังคงยอมให้จำเลยที่1เบิกเงินต่อไปส่วนจำเลยที่1ก็นำเงินเข้าหักทอนบัญชีต่อมาอีกหลายครั้งโจทก์ยอมให้จำเลยที่1เบิกเงินเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่1กุมภาพันธ์2533หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่1เบิกหรือถอนเงินต่อไปส่วนจำเลยที่1ก็มิได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีอีกดังนี้ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่1ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการสะพัดกันทางบัญชีระหว่างกันต่อไปและโจทก์ได้คิดหักทอนบัญชีในวันที่28กุมภาพันธ์2533ปรากฏว่าจำเลยที่1เป็นหนี้โจทก์ทั้งสิ้นเป็นเงิน6,118,039.86บาทซึ่งถือได้ว่าเป็นการคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกันพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่1ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่28กุมภาพันธ์2533ซึ่งเป็นวันคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายหลังจากวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่1อีกคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นได้ต่อไปเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้เงินกู้ระยะสิ้นตามสัญญารับชำระหนี้ (ตั๋วสัญญาใช้เงิน) เป็นเงิน 12,264,587.82 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 10,478,175.47 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และร่วมกันชำระหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเงิน4,551,867.19 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีของต้นเงิน 3,931,512.57 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้ขายทอดตลาดที่ดินจำนองทั้งหมดพร้อมสิ่งปลูกสร้างเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ใช้ใบมอบอำนาจใบเดียวฟ้องลายคดีเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 103 และ104 เรื่องการปิดอากรแสตมป์และการขีดฆ่าอากรแสตมป์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เนื่องจากในการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดแต่ละเดือนมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย แต่โจทก์ไม่แนบบัญชีเดินสะพัดมาท้ายฟ้อง ทำให้จำเลยทั้งสามไม่ทราบว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องหรือไม่ ทำให้จำเลยทั้งสามหลงต่อสู้คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่ได้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยในวันที่เกิดหนี้ทั้งเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 24 ถึงหมายเลข 38 เป็นภาษาต่างประเทศไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย ถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารท้ายฟ้องที่ศาลจะรับฟังว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องได้ จำเลยที่ 1ไม่เคยทำเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ ตามที่โจทก์อ้างว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีกัน คงมีแต่รายการที่จำเลยที่ 1สั่งจ่ายเช็คถอนเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี นำเงินมาชำระหนี้และคิดดอกเบี้ยกันเท่านั้น ไม่ใช่บัญชีเดินสะพัดตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 เพราะไม่มีการหักกลบลบหนี้กันตามมาตรา 859 โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกทั้งจำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามฟ้องทั้งสองฉบับตลอดมา ในที่สุดจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 27 ธันวาคม 2531 จำนวนเงิน 1,500,000 บาทและตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 30 ธันวาคม 2531 จำนวนเงิน2,500,000 บาท จนครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้เงินกู้ระยะสั้นตามสัญญารับชำระหนี้ (ตั๋วสัญญาใช้เงิน) จำเลยที่ 2 และที่ 3ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเมื่อสินค้ามาถึงกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1จะนำสินค้าไปขาย โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทให้โจทก์โดยมีข้อตกลงว่า สินค้าที่ขายนั้นเป็นของโจทก์ขายในนามโจทก์ ครั้นขายสินค้าแล้วโจทก์เป็นผู้รับเงินค่าสินค้านั้น แต่โจทก์ไม่นำเงินไปหักหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท แต่นำไปหักหนี้รายอื่นก่อนเป็นการไม่ชอบจำเลยที่ 1 จึงชำระหนี้รายนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วหนังสือบอกกล่าวฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2533 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 47 ไม่เป็นหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยชอบ เพราะขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ผิดสัญญาในหนังสือดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1กู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและตามหนังสือรับชำระหนี้เป็นเงิน12,264,587.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 10,478,175.47 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเงิน 4,551,867.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,931,512.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4850, 4851, 4433, 14214 และ 14228 ถึง14231 ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย(สามเพ็ง)กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระแก่โจทก์ หากไม่พอชำระ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระแก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวนเงิน6,427,984.36 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีโดยวิธีทบต้นนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2533 ถึงวันที่3 กรกฎาคม 2533 ซึ่งเป็นวันเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและดอกเบี้ยอัตราเดียวกันโดยไม่ทบต้นต่อจากนั้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นตามสัญญารับชำระหนี้ (ตั๋วสัญญาใช้เงิน) และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน5,168,767.12 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 4,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามฎีกาข้อ 1 ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่ได้แนบบัญชีเดินสะพัด(บัญชีกระแสรายวัน) ของจำเลยที่ 1 มาพร้อมกับฟ้อง และเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 24 ถึง 38 เป็นภาษาต่างประเทศ โจทก์ไม่ทำคำแปลของเอกสารดังกล่าวแนบมากับต้นฉบับทำให้จำเลยได้เข้าใจฟ้องของโจทก์ ไม่สามารถให้การต่อสู้คดีโจทก์ได้สำหรับฎีกาในส่วนแรกเกี่ยวกับบัญชีเดินสะพัด เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์และได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์และเพิ่มวงเงินกู้2 ครั้ง รวมเป็นวงเงิน 5,000,000 บาท คิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดตามประเพณีการค้าของธนาคารร้อยละ 15 ต่อปีโดยมีกำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีกันตลอดมาจนสัญญาครบกำหนด จำเลยที่ 1 คงเบิกเงินจากบัญชีต่อไป แต่ไม่ได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชี โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์อีกต่อไป จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1คงค้างชำระหนี้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน7,095,820.70 บาท รายละเอียดปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์จะส่งศาลให้ชั้นพิจารณา ขอให้จำเลยที่ 1รับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ดังนี้คำฟ้องดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว แม้โจทก์จะไม่มีบัญชีเดินสะพัด (บัญชีกระแสรายวัน) ของจำเลยที่ 1 แนบมาท้ายฟ้องแต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดรวมอยู่ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีรายละเอียดปรากฏอยู่ในบัญชีกระแสรายวัน หากจำเลยทั้งสามเห็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องหรือยอดหนี้ไม่ถูกต้องจำเลยทั้งสามก็อาจขอตรวจสอบบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ได้ที่สำนักงานของโจทก์ก่อนยื่นคำให้การ ทั้งในชั้นพิจารณาโจทก์ได้อ้างส่งบัญชีเงินฝากกระแสรายวันซึ่งเป็นบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 เป็นพยานต่อศาลตามเอกสารหมายจ.35 แล้ว หากจำเลยทั้งสามเห็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องตามที่ให้การ จำเลยทั้งสามก็มีโอกาสตรวจสอบยอดเงินและการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ได้อีกครั้งหนึ่งก่อนสืบพยานจำเลยทั้งสาม แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามนำสืบพยานเพียงปากเดียวในประเด็นใบมอบอำนาจฟ้องของโจทก์เท่านั้น หาได้นำสืบเกี่ยวกับเรื่องการคิดดอกเบี้ยในบัญชีเดินสะพัดตามที่ให้การต่อสู้ไว้ไม่ แสดงว่าจำเลยทั้งสามไม่ติดใจในข้อต่อสู้ดังกล่าวแล้ว อีกทั้งจำเลยทั้งสามยังให้การว่าได้ผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์มาโดยตลอด และสุดท้ายได้ชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับเป็นเงิน 4,000,000 บาท ครบถ้วนแล้ว ซึ่งศาลจะวินิจฉัยต่อไปจำเลยทั้งสามจึงไม่หลงข้อต่อสู้ ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงไม่มีเหตุผลให้รับฟัง ที่โจทก์ไม่ได้แนบบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 มาท้ายฟ้อง จึงไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม ส่วนฎีกาประการหลัง เห็นว่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข24 ถึง 38 เป็นเอกสารภาษาต่างประเทศเกี่ยวกับคำขอเปิดเลตเตอร์3 ฉบับ ตั๋วแลกเงิน 6 ฉบับ และทรัสต์รีซีท 6 ฉบับ รวม 15 ฉบับซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศรวม 3 ครั้งค่าสินค้าคิดเป็นเงินตราต่างประเทศตามจำนวนที่ระบุในฟ้องโจทก์ได้ชำระค่าสินค้าดังกล่าวแก่ผู้ขายในต่างประเทศแล้วเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์รวม6 ฉบับเพื่อขอรับเอกสารเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวไปขอออกสินค้าก่อนโดยทำตั๋วแลกเงินสัญญาว่าจะชำระเงินแก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่กำหนดรวม 6 ฉบับ ให้โจทก์ไว้เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีททั้งหกฉบับถึงกำหนดโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระจำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าให้โจทก์บางส่วน คงค้างชำระค่าสินค้าและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 4,551,867.19 บาท โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขที่คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จำนวนเงินค่าสินค้าชื่อบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ เลขที่ตั๋วแลกเงินพร้อมจำนวนเงินตามตั๋ว และรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามใบแจ้งเรียกเก็บเงินของโจทก์กับจำนวนเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์บางส่วนแล้ว คำฟ้องในส่วนนี้จึงมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ชัดแจ้งแล้ว เอกสารท้ายฟ้องหมายเลขดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานที่โจทก์ส่งประกอบคำบรรยายฟ้องเท่านั้นแม้จะเป็นภาษาต่างประเทศก็ไม่มีผลทำให้คำฟ้องที่มีข้อความชัดแจ้งแล้วกลับกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมดังที่จำเลยทั้งสามอ้าง
จำเลยทั้งสามฎีกาข้อ 2 ว่า โจทก์ได้ใช้หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามเอกสารหมาย จ.2 ฟ้องคดีนี้และคดีแพ่งอื่นอีกหลายคดีเป็นการฝ่าฝืนประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับการปิดอากรแสตมป์และการขีดฆ่าอากรแสตมป์ เห็นว่าข้อความในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นเรื่องโจทก์ตั้งนายประจวบ แย้มบางยาง เป็นตัวแทนของโจทก์ให้มีอำนาจฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแพ่งคดีอาญา คดีล้มละลาย และกิจการทั้งหลายอื่นอันเกี่ยวเนื่องกับคดีดังกล่าวภายในขอบวัตถุประสงค์ของธนาคารโจทก์ต่อศาลทั้งปวงนายประจวบจึงเป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจฟ้องคดีหรือทำกิจการใด ๆ เกี่ยวกับคดีในศาลแทนโจทก์ได้ทุกอย่าง โดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพียงคดีเดียว นายปกรณ์ กิจธิคุณ ทนายโจทก์เบิกความว่า ขณะฟ้องคดียังไม่มีการเพิกถอนใบมอบอำนาจจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้มีชื่อดังกล่าวฟ้องคดีได้ และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการมากกว่าครั้งเดียวจึงปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ถูกต้องตามข้อ 7(ข) ของบัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะใช้ตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีในคดีแพ่งได้ทุกคดีหาได้ฝ่าฝืนประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ดังที่จำเลยทั้งสามอ้างการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2จึงชอบแล้ว
จำเลยทั้งสามฎีกาข้อ 3 ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เพราะบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1ไม่มีการหักทอนบัญชีกัน จึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดเห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ 2 ครั้ง ในวงเงิน5,000,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมายจ.12 และ จ.13 โจทก์สัญญาดังกล่าวมีข้อความในข้อ 2 และ 3ใจความว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี กำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือนถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนดดังกล่าว ก็ยอมให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับต้นเงินที่ค้างชำระเป็นคราว ๆ ไป และให้ถือว่าเป็นต้นเงินที่ผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยในคราวต่อไป ตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันปรากฏว่ามีการหักทอนบัญชีและคิดดอกเบี้ยทบต้นกันทุกวันสิ้นเดือน ประกอบกับจำเลยให้การรับว่าในบัญชีกระแสรายวันมีแต่รายการที่จำเลยที่ 1สั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีกับรายการคิดดอกเบี้ยเท่านั้น ดังนี้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติต่อกันตามข้อตกลงในลักษณะเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่อกันอันเป็นบัญชีเดินสะพัดโดยมีการถอนเงินและนำเงินเข้าเพื่อหักทอนบัญชีกับคิดดอกเบี้ยทบต้นกันตลอดมาโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามข้อ 3 ของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวข้างต้น
จำเลยทั้งสามฎีกาข้อ 4 ว่า โจทก์บอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ชอบ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกสัญญาโดยชอบเห็นว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดตามสัญญาที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1เบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยที่ 1 ต้องนำเงินเข้าบัญชีมีการหักทอนบัญชีกันเป็นระยะ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดด้วย เมื่อสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาตามสัญญาก็หมายความว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดไปด้วยปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.35 ว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.13 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2532 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์5,492,962.01 บาท และยังไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ หลังจากครบกำหนดเวลาตามสัญญาโจทก์ยังคงยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินต่อไปส่วนจำเลยที่ 1 ก็นำเงินเข้าหักทอนบัญชีต่อมาอีกหลายครั้งแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังคงมีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาภายหลังจากสัญญาครบกำหนดแล้ว ปรากฏตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.35 ว่า โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกหรือถอนเงินต่อไป ส่วนจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีอีก ดังนี้ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการสะพัดกันทางบัญชีระหว่างกันต่อไป และโจทก์ได้คิดหักทอนบัญชีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในวันดังกล่าวทั้งสิ้นเป็นเงิน 6,118,039.86 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นการคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อกัน พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งเป็นวันคิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายหาได้สิ้นสุดลงในวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 อันเป็นวันครบกำหนดเวลา 15 วัน ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดของโจทก์เอกสารหมาย จ.4 ไม่ หลังจากวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 อีกคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นได้ต่อไปเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 6,118,039.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยไม่ทบต้นนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2533เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่14221 ตำบลป้องปราบศัตรูพ่าย อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย(สามเพ็ง)กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share