แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น” จากบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มโดยที่ศาลวินิจฉัยให้ก็ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ทั้งสาม โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดหรือ ผิดนัดชำระหนี้ต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของรวมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนโดยมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดโจทก์ทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของทุกส่วนรวมกัน เมื่อโจทก์ทั้งสามใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนมาจำนวนเดียวกันโดย มิได้แบ่งแยกว่าแต่ละคนมีสิทธิได้เงินค่าทดแทนเท่าใดอันเป็นการใช้สิทธิร่วมกัน มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัว จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลรวมกัน สำหรับคดีนี้โจทก์ทั้งสามต้องร่วมกันเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดคือศาลละ 200,000 บาท เนื่องจากมีการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเฉพาะในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเกินกว่าศาลละ 200,000 บาทจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาในส่วนที่เรียกเก็บเกินกว่าศาลละ 200,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสาม ค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์ และจำเลยยังจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามไม่ครบนั้น เมื่อฝ่ายจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ หรือโต้แย้งว่าจะไม่จ่ายเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะไปขอ รับเงินค่าทดแทนที่ยังจ่ายไม่ครบดังกล่าวนั้นจากจำเลย ทั้งสองได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 2288 เนื้อที่ 260 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว เมื่อปี 2528 ในระหว่างบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ทางราชการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงสี่พระยา พ.ศ. 2528 เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลและที่ดินของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวพร้อมตึกแถว 3 ชั้น เลขที่ 1239, 1241, 1243, 1245, 1247 และ 1247/1 รวม 6 ห้อง ถูกเวนคืนเกือบหมดทั้งแปลง ต่อมาเมื่อปี 2530 ระหว่างที่จำเลยทั้งสองในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ยังเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไม่เสร็จมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ใช้แทนพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497และจำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44แต่จำเลยทั้งสามกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามซึ่งถูกเวนคืน 168 ตารางวา เพียงตารางวาละ 70,000 บาท และ 35,000 บาทเป็นเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสิ้น 11,270,000 บาท จำเลยทั้งสองจ่ายให้โจทก์ทั้งสามแล้วบางส่วนเป็นเงิน 8,452,500 บาท ส่วนตึกแถว 6 ห้อง ถูกเวนคืนทั้งหลัง 2 ห้อง อีก 4 ห้องถูกเวนคืนบางส่วน โจทก์ทั้งสามพอใจเงินค่าทดแทนรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้เพียง 2 ห้องที่ถูกเวนคืนทั้งหลังส่วนอีก 4 ห้อง จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สิน 1,573,924 บาท เป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสามไม่เป็นธรรมและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยทั้งสองมิได้คิดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนอีก 11 ตารางวาโดยอ้างว่าเป็นทางเท้า โจทก์ทั้งสามยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 วัน โจทก์ทั้งสามขอคิดเงินค่าทดแทนที่ดินตามราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ250,000 บาท จำนวน 168 ตารางวา เป็นเงิน 42,000,000 บาท โจทก์ทั้งสามได้รับแล้ว 8,452,500 บาท คงมีสิทธิได้รับอีก33,547,500 บาท กับเงินค่าทดแทนที่ดิน 11 ตารางวา เป็นเงิน2,750,000 บาท รวมเงินค่าทดแทนที่ดิน 36,297,500 บาท และเงินค่าทดแทนอาคารสิ่งปลูกสร้าง 3,050,558 บาท โจทก์ทั้งสามได้รับแล้ว 1,180,443 บาท คงมีสิทธิได้รับอีก 1,870,115 บาทรวมเป็นเงิน 38,167,615 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปีถึงวันฟ้องอีก 2,990,856.75 บาท รวมเงินทั้งสิ้น41,158,471.75 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน41,158,471.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปีจากต้นเงิน 38,167,615 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและตึกแถวแก่โจทก์ทั้งสามในอัตราที่เป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่ดินอีก 14 ตารางวา ที่เป็นบริเวณทางเท้าหน้าอาคารนั้น ประชาชนทั่วไปใช้สัญจรไปมาเป็นเวลานานจนมีสภาพเป็นทางสาธารณะไปแล้วไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามโจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ส่วนเงินค่าทดแทนตึกแถวและสิ่งปลูกสร้าง 6 ห้อง คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนด้วยความเป็นธรรมและเหมาะสมแล้ว เพราะได้กำหนดเงินค่าทดแทนตามสภาพความเป็นจริงของตึกแถว จำเลยทั้งสองมิใช่ผู้ผิดนัด จึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ย หรือหากต้องชำระดอกเบี้ยก็ต้องชำระนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายเงินคือวันที่ศาลมีคำพิพากษามิใช่ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2533 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืน 25,147,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามคำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินอีก 27,347,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 29 กันยายน2533 เป็นต้นไปแก่โจทก์ทั้งสามนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 2288 เนื้อที่ 260 ตารางวา พร้อมตึกแถวเลขที่ 1239,1241, 1243, 1245, 1247 และ 1247/1 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2528 ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงสี่พระยาพ.ศ. 2528 เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2532 ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ทั้งสามว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสามเนื้อที่168 ตารางวา พร้อมตึกแถวเลขที่ 1243 และ 1245 ทั้งสองห้องกับตึกแถวเลขที่ 1239, 1241, 1247 และ 1247/1 บางส่วนกับที่ดินเนื้อที่ 11 ตารางวา สภาพเป็นทางเท้าซึ่งอยู่ภายใต้กันสาด และอีก 3 ตารางวาพ้นแนวกันสาดอยู่ในแนวเขตที่จะถูกเวนคืนคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเนื้อที่เพียง 168 ตารางวา ตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปี 2528ถึง 2530 ของกรมที่ดิน คือที่ดินห่างจากถนนเจริญกรุงในระยะไม่เกิน 40 เมตร เนื้อที่ประมาณ 154 ตารางวา ราคาตารางวาละ70,000 บาท เป็นเงิน 10,780,000 บาท ส่วนที่ห่างเกิน 40 เมตรเนื้อที่ประมาณ 14 ตารางวา ราคาตารางวาละ 35,000 บาท เป็นเงิน 490,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่ดิน 11,270,000 บาท ส่วนที่ดินซึ่งเป็นทางเท้าตามแนวถนนเจริญกรุงที่ใต้กันสาดตึกแถวของโจทก์ทั้งสาม เนื้อที่ 11 ตารางวา และอยู่พ้นแนวกันสาดอีก 3 ตารางวา ไม่กำหนดเงินค่าทดแทนให้อ้างว่าเป็นทางสาธารณะสำหรับตึกแถวเลขที่ 1243 และ 1245 กับค่าปรับปรุงพื้นที่ กำหนดเงินค่าทดแทนให้ 1,102,641 บาท ตึกแถวเลขที่ 1239และ 1241 กำหนดเงินค่าทดแทนให้ 854,882 บาท ตึกแถวเลขที่ 1247 กำหนดเงินค่าทดแทนให้ 383,385 บาท ตึกแถวเลขที่ 1247/1 กำหนดเงินค่าทดแทนให้ 49,898 บาท สิ่งปลูกสร้าง (เพิง-รั้ว) กำหนดเงินค่าทดแทนให้ 285,759 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนตึกแถว4 ห้องหลัง และสิ่งปลูกสร้าง 1,573,924 บาท และให้โจทก์ทั้งสามไปรับเงินค่าทดแทนดังกล่าว ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533โจทก์ทั้งสามไปตกลงรับเงินค่าทดแทนโดยสงวนสิทธิอุทธรณ์ครั้นวันที่ 5 มิถุนายน 2533 ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสามไปรับเงินค่าทดแทนภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือนี้ซึ่งโจทก์ทั้งสามได้รับหนังสือในวันที่ 7 มิถุนายน 2533 โจทก์ทั้งสามได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้วเป็นเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง (เพิง-รั้ว) 1,180,443 บาท และเงินค่าทดแทนที่ดิน 8,452,500 บาท โจทก์ทั้งสามพอใจเงินค่าทดแทนตึกแถวเลขที่ 1243 และ 1245 นอกนั้นไม่พอใจ จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ทั้งสามจึงได้ฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินเนื้อที่ 11 ตารางวา ใต้กันสาดตึกแถวไม่ตกเป็นที่สาธารณะยังคงกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสาม ที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนจึงมีเนื้อที่รวม 179 ตารางวา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า สมควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและตึกแถวเพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงใด ศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนน่าจะมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ สูงหรือต่ำกว่าตารางวาละ262,295 บาท ไม่มาก ประกอบกับในปี 2534 ที่ดินของโจทก์ทั้งสามมีราคาประเมินถึงตารางวาละ 500,000 บาท ทั้งเมื่อคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งที่ดินของโจทก์ทั้งสามที่ถูกเวนคืนอยู่ติดถนนเจริญกรุงและเป็นทำเลธุรกิจการค้า และวัตถุประสงค์ในการเวนคืนเพื่อแบ่งเบาปริมาณการจราจรในถนนเจริญกรุงและถนนใกล้เคียงอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามพระราชกฤษฎีกาฯ แล้วที่โจทก์ทั้งสามขอเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 250,000 บาทเป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสามและสังคม และเห็นว่า คณะกรรมการฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนตึกแถวเลขที่ 1243และ 1245 ทั้งสองห้องเป็นเงิน 1,102,641 บาท โจทก์ทั้งสามพอใจแสดงว่าราคาที่กำหนดให้เป็นธรรมแล้ว เมื่อคณะกรรมการฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนตึกแถวที่โจทก์ทั้งสามขอเงินเพิ่มโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับตึกแถวทั้งสองห้องดังกล่าว จึงเป็นราคาที่เหมาะสมประกอบกับการที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงต่อเติมตึกแถวส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของโจทก์ทั้งสามเอง ดังนั้น จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนตึกแถวเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งสามแต่อย่างใด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามอีกว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับอัตราดอกเบี้ยเพียงใด พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น” จากบทกฎหมายดังกล่าวเมื่อโจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มโดยที่ศาลวินิจฉัยให้ก็ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ทั้งสาม โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดหรือผิดนัดชำระหนี้ต่อโจทก์ทั้งสามตามที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาหรือไม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า โจทก์ทั้งสามต้องเสียค่าขึ้นศาลรวมกันหรือแยกกันเป็นรายบุคคล เห็นว่าโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของรวมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนโดยมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของทุกส่วนรวมกันเมื่อโจทก์ทั้งสามใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนมาจำนวนเดียวกันโดยมิได้แบ่งแยกว่าแต่ละคนมีสิทธิได้เงินค่าทดแทนเท่าใด อันเป็นการใช้สิทธิร่วมกัน มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัว จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลรวมกัน สำหรับคดีนี้โจทก์ทั้งสามต้องร่วมกันเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุด คือศาลละ 200,000 บาท เนื่องจากมีการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเฉพาะในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเกินกว่าศาลละ 200,000 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาในส่วนที่เรียกเก็บเกินกว่าศาลละ 200,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสาม
อนึ่ง ค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสาม ที่ฝ่ายจำเลยยังจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามไม่ครบนั้น ฝ่ายจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิได้รับหรือโต้แย้งว่าจะไม่จ่ายเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามชอบที่จะไปขอรับเงินค่าทดแทนที่ยังจ่ายไม่ครบดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองได้อีกส่วนหนึ่งด้วยอยู่แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม 33,480,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 13 ต่อปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกินกว่าศาลละ 200,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์